ดินแดนในภูมิภาคต่างๆ ของโลก

ดินแดนในภูมิภาคต่างๆ ของโลกมีประวัติความเป็นมาและพัฒนาการที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ ตลอดจนพัฒนาการด้านต่างๆ ทั้งด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และศิลปวัฒนธรรมในแต่ละแห่ง การเรียนรู้ภูมิหลังและพัฒนาการด้านต่างๆ ในแต่ละภูมิภาคของโลก จะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในความสืบเนื่องของอารยธรรมจากอดีตถึงปัจจุบันได้กระจ่างชัดมากยิ่งขึ้น

๑. ทวีปยุโรป

ทวีปยุโรปเป็นทวีปที่มีขนาดเล็กเป็นอันดับ ๒ ของโลกรองจากทวีปออสเตรเลียและโอเชียเนียมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๑๐,๕๒๕,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร และดินแดนทางด้านตะวันออกติดต่อเป็นผืนเดียวกับทิศตะวันตกของทวีปเอเชีย จึงเรียกทวีปทั้งสองรวมกันว่า ยูเรเซีย {Eurasia} โดยมีเทือกเขาคู่รัก {Urals} และเทือกเขาคอเคซัส {Caucasus} เป็นแนวแบ่งเขต

ปัจจุบันทวีปยุโรป ประกอบด้วย ประเทศ รัฐ และนครอิสระกว่า ๔๐ แห่ง มีประชากรประมาณ ๗๓๐ ล้านคน โดยมีสหพันธรัฐรัสเซียเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุด และนครรัฐวาติกัน (Vatican City State) ซึ่งมีสันตะปาปาเป็นองค์ประมุข เป็นนครอิสระที่เล็กที่สุด

.๑ ที่ตั้งและสภาพภูมิศาสตร์ที่มีผลต่อพัฒนาการของทวีป

ทวีปยุโรปตั้งอยู่ในซีกโลกเหนือ ระหว่างละติจูดที่ ๓๕-๗๐ องศาเหนือ และลองจิจูดที่ ๙ องศาตะวันตก-๖๖ องศาตะวันออก ประกอบด้วย ที่ราบลุ่ม ที่ราบสูง เทือกเขา และมีคาบสมุทรจำนวนมากทางตอนใต้ ได้แก่ คาบสมุทรบอลข่าน อิตาลี และไอบีเรีย ซึ่งทอดตัวสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ส่วนทางตอนเหนือ ได้แก่ คาบสมุทรจัตแลนด์ ที่แบ่งแยกทะเลเหนือจากทะเลบอลติก เหนือสุด ได้แก่ คาบสมุทรแกนดิเนเวียและคาบสมุทรโคลา ดังนั้น ทวีปยุโรปจึงได้ชื่อว่าเป็น ดินแดนแห่งคาบสมุทรของคาบสมุทร (A peninsula of peninsulas)

ประเทศในทวีปยุโรปส่วนใหญ่มีผืนดินติดต่อทะเล และมีชายฝั่งทะเลยาวมาก อีกทั้งบางประเทศก็ตั้งอยู่บนเกาะ จึงทำให้ทวีปยุโรปเป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมการประมงและการเดินเรือ ส่วนประเทศที่ไม่มีพรมแดนติดทะเลก็อยู่ห่างจากทะเลไม่กี่ร้อยกิโลเมตร ซึ่งทำให้สามารถรับอิทธิพลจากลมทะเลด้วย จึงเป็นเพียงทวีปเดียวที่ไม่มีอากาศแห้งแล้งแบบทะเลทราย นอกจากนี้ ทวีปยุโรปยังเป็นที่ตั้งของผืนดินที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกที่เหมาะแก่การเพาะปลูก โดยครอบคลุมอาณาเขตตั้งแต่ชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกทางทิศตะวันตกไปจบเทือกเขายูรัลทางทิศตะวันออก เรียกว่า ที่ราบยุโรปเหนือ (North European Plain) ประกอบด้วย กลุ่มประเทศเบเนลักซ์ (Benelux) เดนมาร์ก โปแลนด์ จนถึงสหพันธรัฐรัสเซีย รวมทั้งตอนใต้ของราชอาณาจักร ทั้งนี้ โดยมีแม่น้ำสายต่างๆ ที่มีต้นกำเนิดในเทือกเขาแอลป์ (Alps) เทือกเขาพิเรนีส (Pyrenees) และเทือกเขาคาร์เพเทียน (Carpathians) เป็นทรัพยากรน้ำที่สำคัญทั้งด้านเกษตรกรรมการเดินเรือขนส่งสินค้าและบรรทุกผู้โดยสาร แม่น้ำวอลกาเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุด ส่วนแม่น้ำดานูบที่ยาวเป็นอันดับ ๒ และไหลผ่านจากยุโรปตะวันออกไปยังทะเลดำ (Black Sea) ทางตะวันออกเป็นแม่น้ำสายสำคัญในการสัญจรของหลายๆ ประเทศ

โดยทั่วไป ทวีปยุโรปมีภูมิอากาศอบอุ่นตั้งแต่ทิศตะวันตกแยงเหนือจนถึงตอนใต้แถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เพราะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีม (Gulf Stream) และแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Drift) เหมาะแก่การเพาะปลูกส้ม องุ่น มะนาว และมะกอก ส่วนดินแดนในคาบสมุทรสแกนดิเนเวียโดยเฉพาะทางตอนเหนือของเส้นอาร์กติกและยุโรปด้านตะวันออกที่ไม่ได้รับอิทธิพลของกระแสน้ำอุ่นจะมีอากาศหนาวเย็นมากกว่า อย่างไรก็ดี โดยทั่วไปอุณหภูมิที่อบอุ่นของยุโรปและความอุดมสมบูรณ์ของผืนดิน ตลอดจนแม่น้ำขนาดใหญ่สายต่างๆ เช่น แม่น้ำไทเบอร์ แม่น้ำไรน์ แม่น้ำแซน แม่น้ำดานูบ และอื่นๆ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาตั้งหลักแหล่งในทวีปยุโรปตั้งแต่สมัยโบราณ และร่วมกันสร้างความเจริญจนกลายเป็นอารยธรรมตะวันตกที่มีอิทธิพลไปทั่วโลกในปัจจุบัน

.๒ พัฒนาการและการสร้างสรรค์ด้านต่างๆ

ทวีปยุโรปเป็นดินแดนที่มีมนุษย์อาศัยอยู่มาตั้งแต่ยุคหินเก่าเมื่อประมาณ ๑๐๐๐๐ ปีมาแล้ว เป็นดินแดนที่การตั้งชุมชนและสังคมมานานนับพันปี ตลอดระยะเวลาดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าชาวยุโรปได้สร้างสรรค์ความเจริญและการเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมโลกมากมาย

พัฒนาการและการสร้างสรรค์ต่างๆ ของทวีปยุโรปสามารถแบ่งออกได้ ดังนี้

๑) พัฒนาการด้านการเมืองการปกครอง โดยทั่วไปกล่าวได้ว่าในอดีตดินแดนส่วนใหญ่ของทวีปยุโรปมีกษัตริย์เป็นประมุขสูงสุด แม้แต่ในสมัยกรีกเรืองอำนาจเมื่อกว่า ๕๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช ระบอบการปกครองแบบกษัตริย์ก็เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายแล้ว ในสมัยจักรวรรดิโรมัน (๒๗ ปีก่อนคริสต์ศักราช-..๔๗๖) พระประมุขสูงสุด เรียกว่า ซีซาร์หรือจักรพรรดิ ซึ่งทรงปกครองอาณาบริเวณกว้างขวางครอบคลุมพื้นที่ในยุโรปและบางส่วนของเอเชียและแอฟริกา

เมื่อจักรวรรดิโรมันล่มสลายลงใน ค.. ๔๗๖ ยุโรปได้เข้าสู่สมัยกลาง (Milddle Ages .. ๔๗๖-๑๔๙๒)ที่ระยะแรกๆบ้านเมืองแตกแยกจากการเข้ารุกรานของพวกอนารยชนเผ่ากอท (Goth) หรือชนเผ่าเยอรมันที่อพยพลงมาจากตอนเหนือ ระบอบการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจของโรมสลายตัว บ้านเมืองไร้ขื่อแป ประมวลกฎหมายโรมันที่ใช้บังคับทั่วทั้งจักรวรรดิถูกละทิ้งเกิดเป็นระบอบการปกครองแบบฟิวดัล (feudalism) หรือการปกครองแบบกระจายอำนาจการปกครองตกอยู่ในมือของขุนนางเจ้าของที่ดิน และมีการใช้กฎหมายจารีตประเพณี (customary law) ของพวกอนารยชนแทนประมวลกฎหมายโรมันอย่างไรก็ดี กษัตริย์ก็ยังคงได้รับการยกย่องว่าเป็นเจ้าของแผ่นดินและได้รับการยกย่องว่าเป็นพระประมุข (แต่ไม่มีอำนาจ) แต่ในปลายสมัยกลางกษัตริย์ต่างสามารถสถาปนาอำนาจปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจและสร้างรัฐชาติ (nation state) ที่รวมดินแดนต่างๆ เข้าเป็นชาติเดียวกันได้ ซึ่งพระราชอำนาจในการปกครองของกษัตริย์ในดินแดนต่างๆ มีพัฒนาการที่แตกต่างกัน ดังนี้

ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ในอังกฤษ พระเจ้าจอห์น (ค..๑๑๙๙-๑๒๑๖) ทรงยอมรับแมกนาคาร์ตา (Magna Carta ..๑๒๑๕) หรือมหากฎบัตร (Great Charter) ที่ขุนนาง พระ พ่อค้า และประชาชนรวมตัวกันบีบบังคับให้พระองค์ยอมรับข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษรในการจำกัดพระราชอำนาจไม่ให้ใช้พระราชอำนาจเกินขอบเขตในการเก็บภาษีอากร การลงโทษและอื่นๆ ต่อมาได้เกิดรัฐสภา (parliament) ที่ประกอบด้วย สภาขุนนาง (House of Lords) และ สภาสามัญ (House of Commons) ที่มีส่วนสำคัญในการลดอำนาจสิทธิ์ของกษัตริย์

ต่อมาเมื่อกษัตริย์พยายามจะละเลยอำนาจของรัฐสภา สภาและประชาชนได้ร่วมกันก่อการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (Glorious Revolution) ขึ้นใน ค..๑๖๘๘ ขับกษัตริย์ออกจากบัลลังโดยไม่มีการนองเลือดและให้กษัตริย์พระองค์ใหม่ยอมรับในอำนาจของรัฐสภา นับเป็นการสิ้นสุดของการพยายามใช้อำนาจปกครองอย่างเด็ดขาดของกษัตริย์ และเป็นจุดเริ่มต้นของการปกครองแบบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ทั้งยังยุติปัญหาความแตกแยกทางศาสนาภายในประเทศโดยกำหนดให้กษัตริย์ต้องทรงนับถือและเป็นองค์ศาสนูปถัมภกของนิกายแองกลิคัน (Anglicanism) หรือนิกายอังกฤษ (Church of England)

ระบอบกษัตริย์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ส่วนฝรั่งเศสและประเทศมหาอำนาจในอดีตอื่นๆ ได้แก่ ปรัสเซีย (รัฐหนึ่งในดินแดนเยอรมัน ต่อมามีบทบาทเป็นผู้นำในการรวมชาติเยอรมนีใน ค..๑๘๗๑) ออสเตรีย และรัฐเซียนั้น กลับมีพัฒนาการระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolutism)

ฝรั่งเศสใน ค.. ๑๖๑๔ หลังเกิดเหตุความวุ่นวายและสงครามกับสเปน สภาฐานันดร (Estates General) ซึ่งเป็นตัวแทนของชนชั้นต่างๆ ได้ประกาศยุบตัว และประกาศให้ อำนาจอธิปไตรสูงสุดเป็นของกษัตริย์เพราะทรงเป็นผู้ได้รับมงกุฎจากพระเป็นเจ้าจึงทำให้ไม่มีการเรียกประชุมสภาฐานันดรอีกเลยเป็นเวลา ๑๗๕ ปี จนก่อนเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.. ๑๗๘๙ (French Revolution of 1789) ทำให้กษัตริย์ฝรั่งเศสไม่มีสภาที่จะควบคุมการใช้พระราชอำนาจ พระราชอำนาจของกษัตริย์จึงได้เพิ่มพูนขึ้นอีก

หลังจากสงครามสามสิบปี (Thirty Years’ War .. ๑๖๑๘-๑๖๔๘) ซึ่งเกิดจากความขัดแย้งระหว่างนิกายโรมันคาทอลิกกับนิการโปรเตสแตนต์สิ้นสุดลง มหาอำนาจต่างๆ ดังกล่าวขัดแย้ง (ยกเว้นรัฐเซียที่ไม่ได้เข้าร่วมในสงครามด้วย) ก็จัดการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจให้อยู่ในเมืองของกษัตริย์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการสร้างและขยายอำนาจของรัฐ โดยฝรั่งเศสภายใต้การปกครองของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ (Louis XIV, ค.. ๑๖๔๓-๑๗๑๕) ผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจประเทศแรก มีกองทัพขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพและดำเนินนโยบายขยายอำนาจพรมแดนพวกขุนนางต่างสูญเสียอำนาจทางการเมืองและเปลี่ยนสถานภาพเป็นข้าราชการ

ลักษณะของระบอบการปกครองที่มีกษัตริย์เป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจดังกล่าวนี้ก็ได้รับการพัฒนาขึ้นในปรัสเซีย และประสบความสำเร็จในสมัยของพระเจ้าเฟรเดริกมหาราช (Frederick the Great, ค.. ๑๗๔๐-๑๗๘๖) ออสเตรียในสมัยของจักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา (Maria Theresa .. ๑๗๔๐-๑๗๘๐) ส่วนรัฐเซียในสมัยของซาร์ปีเตอร์มหาราช (Peterthe Great, ค.. ๑๖๘๒-๑๗๒๕) และซารีนาแคเทอรีนมหาราช (Catherine the Great, ๑๗๖๒-๑๗๙๖) ซึ่งได้มีการเรียกช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ว่า ยุคแห่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Age of Absolutism)

ในการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ ได้มีความพยายามที่จะลดอำนาจของกษัตริย์และนำไปสู่การสถาปนาระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐขึ้นใน ค.ศ. ๑๗๙๒ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ฝรั่งเศสหันกลับไปปกครองในระบอบกษัตริย์อีกครั้งในสมัยจักพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I, ค.ศ.๑๘๐๔-๑๘๑๕) ความพยายามจะขยายอำนาจของฝรั่งเศสไปทั่วยุโรปก่อให้เกิดการรวมตัวของมหาอำนาจอื่นๆ เพื่อหยุดยั้งจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ และสามารถรบชนะกองทัพฝรั่งเศสได้ใน ค.ศ. ๑๘๑๕ หลังจากนั้นมีการฟื้นฟูราชวงศ์ต่างๆ ที่สูญเสียอำนาจไประหว่างสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars, ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕) รวมทั้งราชวงศ์บูร์บง (Bourbon) ของฝรั่งเศสด้วย

อย่างไรก็ดี ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ อำนาจของกษัตริย์เริ่มถูกต่อต้าน มีการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ จากการแพร่ขยายของลัทธิเสรีนิยมและชาตินิยม ทำให้รูปแบบการปกครองประเทศต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงเกิดการปฏิวัติในดินแดนต่างๆ ทั่วยุโรปเป็นละลอกๆ รัฐสภาจึงมีบทบาทสำคัญขั้นและกษัตริย์ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจการควบคุมของรัฐสภาในระดับหนึ่ง ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๗๑-๑๙๑๔ ชาวยุโรปจำนวนหนึ่งจึงเห็นว่าเป็น ระยะเวลาอันงดงาม (The Beautiful Times) ที่ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพ ทั้งความเจริญทางวิทยาศาสตร์ก็นำมาซึ่งความสะดวกสบายแก่ชีวิตด้วย ขณะเดียวกันหลักการของรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของประชาชนก็เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป พลเมืองเพศชายในประเทศต่างๆ ได้รับสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง อย่างไรก็ดี ในทางตรงกันข้าม ลัทธิมากซ์ที่เกิดขึ้นก็มองเห็นการเอารัดเอาเปรียบของนายทุนต่อชนชั้นแรงงานและต้องการเลี่ยนแปลงระบบการเมืองการปกครองเพื่อให้สังคมปราศจากชนชั้นและมีความเสมอภาคกัน โดยที่ชนชั้นแรงงานมีบทบาทเป็นผู้นำในการปกครอง

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ (ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๘) สิ้นสุดลง ระบอบการปกครองแบบกษัตริย์ในรัสเซีย เยอรมนี และออสเตรียก็สิ้นสุดลงพร้อมกับเกิดระบอบการปกครองแบบสังคมนิยมขึ้นในรัสเซีย ฝรั่งเศสได้เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นสาธารณรัฐตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๗๑ ส่วนเยอรมนีและออสเตรียก็มีการสถาปนาระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐ ระหว่าง ทศวรรษ ๑๙๒๐-กลางทศวรรษ ๑๙๓๐ อิตาลีซึ่งมีเบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini) และเยอรมนีมีอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) เป็นผู้นำ ได้ประกาศปกครองประเทศด้วย ระบอบเผด็จการฟาสซิสต์ (Fascism) หรือระบอบเผด็จการทหาร ที่ผู้นำมีอำนาจควบคุมกำลังทหาร ตำรวจ และเป็นพรรคการเมืองเดียว โดยประชาชนต้องจงรักภักดี มีความศรัทธาและความเชื่อมั่นในผู้นำ ลัทธิฟาสซิสต์จึงมีส่วนทำให้เยอรมนีเหิมเกริมและก่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ (ค.ศ. ๑๙๓๙-๑๙๔๕)

ระบอบการปกครองในทวีปยุโรปสมัยปัจจุบัน

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ระบอบการปกครองของยุโรปแยกออกเป็น ๒ ระบอบอย่างเด่นชัด ดังนี้

๑) ระบอบประชาธิปไตย เป็นระบอบที่เน้นความเป็นปัจเจกบุคคลนิยม (individualism) เหตุผลนิยม (rationalism) และเสรีภาพ (freedom) หลักการสำคัญของแนวความคิดประชาธิปไตย คือ สิทธิ เสรีภาพของประชาชน ประชาชนเป็นที่มาของอำนาจอธิปไตย ทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคภายใต้กฎหมาย การปกครองระบอบประชาธิปไตยมีต้นกำเนิดมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ เมื่อกว่า ๕๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช โดยนครรัฐเอเธนส์เป็นดินแดนแห่งแรกที่ให้สิทธิแก่พลเมืองเพศชายที่เป็นเสรีชนทุกคนมีสิทธิในการเลือกตั้งและเข้านั่งในสภา ทั้งยังดำรงตำแหน่งผู้ปกครองได้ ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่ประชาชนมีอำนาจสูงสุด โดยมีรัฐสภาทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชน

๒) ระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ เป็นระบอบการปกครองที่อ้างอุดมการณ์ของลัทธิมากซ์ในการสร้างสังคมที่ปราศจากชนชั้น และมีความเสมอภาคกันในด้านต่างๆ โดยชนชั้นแรงงานเป็นผู้ปกครองประเทศระอบเผด็จการคอมมิวนิสต์มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์และผู้นำรัฐเป็นคนเดียวกัน สหภาพโซเวียตเป็นประเทศแรกที่มีการปกครองในระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์ภายหลังการปฏิวัติรัสเซียในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็มีประเทศอื่นปกครองในระบอบเผด็จการคอมมิวนิสต์อีก ๑๖ ประเทศ แต่เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายลงใน ค.ศ. ๑๙๙๑ ก็เหลือเพียงไม่กี่ประเทศ เช่น จีน คิวบา เกาหลีเหนือ เป็นต้น ส่วนบรรดาประเทศบริวารของสหภาพโซเวียตเดิม (รวมทั้งรัสเซีย) ก็ต้องปฏิรูปการปกครองตนเองในแนวทางของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยด้วย

๒) พัฒนาการด้านเศรษฐกิจ ระหว่าง ค.ศ. ๔๗๖-๑๐๕๐ หรือสมัยกลางตอนต้นชาวไร่ชาวนาส่วนใหญ่ต่างสูญเสียอิสรภาพและกลายเป็นทาสติดที่ดิน (serf) ต้องอยู่ในสังกัดของขุนนางเจ้าของที่ดินและดำรงชีวิตอยู่ในเขตแมเนอร์ (manor) ซึ่งเป็นเขตที่ดินในปกครองของขุนนาง และเป็นที่เพาะปลูกและอยู่อาศัยโดยมีเขตที่เป็นที่ตั้งปราสาทของขุนนางเจ้าของที่ดิน และเขตหมู่บ้านซึ่งเป็นเขตที่อยู่อาศัยของพวกทาสติดที่ดินและชาวไร่ชาวนาบางคนที่เป็นเสรีชน เศรษฐกิจในเขตแมเนอร์เป็นเศรษฐกิจพอเลี้ยงตนเอง (self-sufficient economy) ที่ชาวไร่ชาวนาต่างประกอบอาชีพพอกินพอใช้และผลิตสินค้าเพื่อใช้เองหรือแลกเปลี่ยนกันการค้าที่เคยรุ่งเรืองในสมัยจักรวรรดิโรมันต้องหยุดชะงักเป็นเวลากว่า ๕๐๐ ปี ก่อนที่ยุโรปจะฟื้นตัวจนสามารถสร้างความเป็นปึกแผ่นและปลอดภัยจากการรุกรานของพวกอนารยชน จำนวนประชากรได้เพิ่มมากขึ้นและสามารถผลิตสินค้าเพื่อการค้าขายทั้งภายในประเทศและส่งออกได้

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและสังคมของยุโรป ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสงครามครูเสด (Crusades, ค.ศ. ๑๐๙๖-๑๒๙๑) ที่ชาวคริสต์รบกับชาวมุสลิมในดินแดนตะวันออกกลาง และมีโอกาสนำเอาความรู้ ความเจริญ และศิลปะวิทยาการของโลกตะวันออกกลับมาเผยแพร่ให้แก่โลกตะวันตกหลังจากที่ความรู้ต่างๆ เหล่านี้หายไปในสมัยกลางตอนต้น ส่วนสินค้าที่โลกตะวันตกต้องการ ได้แก่ เครื่องเทศ น้ำตาล ข้าว ส้ม มะนาว พริกไทย ผ้าไหม และพรม โดยมีพ่อค้าอิตาลีเป็นคนกลางและให้อิตาลีเป็นดินแดนที่มั่งคั่งที่สุดในทวีปยุโรป พ่อค้าอิตาลีซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีได้แก่ มาร์โก โปโล (Marco Polo) ชาวเวนิส ได้เดินทางไปค้าขายจนถึงเมืองจีน และกลับมาเล่าเรื่องราวความเจริญรุ่งเรืองและวัฒนธรรมของโลกตะวันออกจนเป็นที่รู้จักแพร่หลาย

ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว เมือง (town, city) กลายเป็นที่ตั้งของศูนย์กลางการค้าและเศรษฐกิจ องค์กรการค้าและองค์กรช่างฝีมือแต่ละประเภท ซึ่งเรียกว่า กิลด์ (guild) กลายเป็นที่ฝึกงานเพื่อพัฒนาฝีมือ เกิดระบบทุนนิยม (capitalism) ต่อมาทำให้พ่อค้าทีร่ำรวยซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการปกครอง เศรษฐกิจการค้าของชาติตะวันตกมีการขยายตัวมากยิ่งขึ้นเมื่อเกิดการค้าขายในระดับโลก

ในปลายสมัยกลาง ชาวยุโรปได้สร้างนวัตกรรมการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์และเทคโนโลยีที่สำคัญ คือ การประดิษฐ์ปืนใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงวิธีการรบ และเครื่องพิมพ์ที่ผลิตหนังสือได้มากและมีราคาถูก ซึ่งสามารถกระจายความรู้ได้อย่างกว้างขวาง ทำให้ชาวยุโรปหันมาสนใจในเรื่องต่างๆ รวมทั้งความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ก่อให้เกิดสมัยแห่งการค้นพบและการสำรวจโดยคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) ค้นพบทวีอเมริกาใน ค.ศ. ๑๔๙๒ และ วาสโก ดา กามา (Vasco da Gama) แล่นเรืออ้อมแหลมกู๊ดโฮป (Good Hope) ในทวีปแอฟริกาสู่อินเดียใน ค.ศ. ๑๔๙๘ ซึ่งนับว่ายุโรปได้เข้าสู่ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ทั้งเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้วัฒนธรรมตะวันตกแพร่กระจาย มีการเผยแพร่คริสต์ศาสนาทั้งนิกายโรมันคาทอลิกและนิกายโปรเตสแตนต์อย่างกว้างขวาง เมื่อนานาประเทศในยุโรปสามารถควบคุมและยึดคลองตลาดการค้าในดินแดนโพ้นทะเลใต้ ทำให้เกิดการปฏิวัติทางการค้า (Commercial Revolution) ที่พ่อค้าเร่งผลิตสินค้าจำนวนมาก ก่อให้เกิดการพัฒนาในด้านเศรษฐกิจที่มีรูปแบบต่างๆ มาจนถึงปัจจุบัน ดังนี้

เศรษฐกิจแบบพาณิชยนิยม

เศรษฐกิจแบบพาณิชยนิยม (mercantilism) เป็นระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นและพัฒนาพร้อมๆ กับการก่อตัวของรัฐชาติ เป็นรูปแบบของเศรษฐกิจคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖-๑๘ โดยรัฐเข้าควบคุมอุตสาหกรรมและการค้าภายในประเทศ ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของพ่อค้า การส่งสินค้าออก และกีดกันการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ลัทธิพาณิชยนิยมเป็นผลจากความเชื่อว่าการควบคุมและการดำเนินธุรกิจต่างๆ จะทำให้รัฐมั่นคง เข้มแข็ง ดังนั้น จึงถือเป็นหน้าที่และความจำเป็นของรัฐที่จะต้องดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อเป็นเจ้าของทรัพยากรและโภคทรัพย์ต่างๆ และเข้าครอบครองดินแดนต่างๆ แล้วจัดตั้งเป็นอาณานิคม เผยแผ่ศาสนา ท้ายที่สุดก็ก่อให้เกิดความขัดแย้งกันเองและเข้าสู่สงคราม กลายเป็นสงครามที่ลุกลามในภูมิภาคอื่นๆ ของโลก เช่น สงครามเจ็ดปี (Seven Year’ War, ค.ศ. ๑๗๕๖-๑๗๖๓) ระหว่างฝรั่งเศสและออสเตรีย กับอังกฤษและปรัสเซีย ก่อให้เกิดการรบกันทั้งในทวีปยุโรป อเมริกา และเอเชีย

เศรษฐกิจแบบทุนนิยม

ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ได้เกิดแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์และการเมืองที่สำคัญ คือ แนวคิด ไลส์เซ-แฟร์ (laissez-faireเป็นคำฝรั่งเศส หมายถึง ปล่อยให้เป็นเอง) และแนวคิดการค้าเสรี (free trade) ของแอดัม สมิท (Adam Smith) ชาวสกอต เจ้าของผลงานเรื่อง The Wealth of Nations (ค.ศ. ๑๗๗๖) ที่กำหนดให้อุปสงค์ (demand) และอุปทาน (supply) เป็นตัวกำหนดกลไกของตลาด

ด้านเศรษฐกิจนั้น ไลส์เซ-แฟร์ หมายถึง การดำเนินนโยบายภายในที่รัฐบาลไม่ควรเข้าไปก้าวก่ายกับการค้า เป็นธุรกิจของภาคเอกชนทั้งในด้านอุตสาหกรรมและการเงิน ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมส่งเสริมให้นายทุนแข่งขันกันอย่างเสรี ผู้บริโภคจะทำให้กลไกของตลาดเคลื่อนไหวและนำความมั่งคั่งมาสู่รัฐได้

อย่างไรก็ดี ทั้งแนวคิดไลส์เซ แฟร์ และการค้าเสรีดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นนายทุนอีกทั้งสอดคล้องกับลัทธิเสรีนิยม จึงทำให้เกิดการสะสมทุน การลงทุน และขยายทุนอย่างกว้างขวาง เกิดระบบตลาดการค้าเสรีแบบทุนนิยม (free market capitalism) ไปทั่วโลก โดยรัฐให้การสนับสนุนและออกกฎหมายต่างๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการทำธุรกิจและการค้า การครอบครองทรัพย์สิน และการทำสัญญาต่างๆ

ในโลกปัจจุบันระบบทุนนิยมและแนวคิดไลส์เซ แฟร์ และการค้าเสรีก็ยังคงเป็นนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศประชาธิปไตย โดยรัฐเข้ามามีบทบาทในด้านการวางนโยบาย การควบคุมคุณภาพและวิธีการผลิต ตลอดจนการดูแลในเรื่องสวัสดิการของผู้ใช้แรงงานด้วย

เศรษฐกิจแบบสังคมนิยม

เศรษฐกิจแบบสังคมนิยม (socialism) เป็นระบบเศรษฐกิจที่พัฒนามาจากแนวความคิดทางการเมืองของคาร์ล มากซ์ (Karl Marx) นักสังคมนิยมที่มีชื่อเสียงของยุโรป เกิดขึ้นกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เพื่อตอบโต้การขยายตัวของลัทธิทุนนิยมและการเอารัดเอาเปรียบชนชั้นแรงงาน เขาต้องการสร้างระบบเศรษฐกิจที่เสมอภาค คือ การยกเลิกกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินส่วนบุคคล และให้มีการจัดการทางการผลิตโดยชนชั้นแรงงาน ซึ่งชนชั้นแรงงานจะใช้อำนาจเผด็จการในการปกครองเพื่อผลักดันนโยบายสังคมนิยมให้บรรลุผลสำเร็จ

๓) พัฒนาการด้านสังคมและศิลปวัฒนธรรม มีดังนี้

กำเนิดของชนชั้นกลาง

ในสมัยกลางตอนต้น สังคมของตะวันตกประกอบด้วย ชนชั้น ๓ ฐานันดร ได้แก่ กษัตริย์-ขุนนาง นักบวช และชาวไร่-ชาวนา (ทาสติดที่ดิน) แต่เมื่อมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเมืองขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ สังคมยุโรปก็เกิดชนชั้นใหม่ คือ ชนชั้นกลางหรือชนชั้นกระฎุมพี ที่ประกอบอาชีพต่างๆ เช่น ช่างฝีมือ ลูกจ้าง พ่อค้า อาจารย์ นักศึกษา โดยอาศัยอยู่ในเขตเมือง ถือว่าเป็น ชนชั้นใหม่ ของสังคมตะวันตก ชนชั้นกลางเหล่านี้ได้ร่วมกันวางรากฐานความเจริญให้แก่สังคมยุโรปและปลูกฝังอุดมการณ์และวิธีการปฏิบัติในการอยู่ร่วมกัน เช่น สิทธิและหน้าที่ของชาวเมือง การจัดเก็บภาษีและค่าปรับ เป็นต้น เพื่อนำรายได้มาบริหาร การทำนุบำรุงแลการป้องกันเมือง ส่งเสริมและขยายการศึกษาการจัดตั้งมหาวิทยาลัย และเกิดการฟื้นฟูศิลปวิทยาการและความเจริญอื่นๆ ตลอดจนส่งเสริมคุณธรรมและให้ความสำคัญแก่สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคปัจเจกบุคคล ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้สังคมยุโรปสามารถพัฒนาระบอบการปกครองแบบระบอบประชาธิปไตย

การขยายตัวของเมืองในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

การขยายตัวของเมืองในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเด่นชัดขึ้นในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ กล่าวคือใน ค.ศ. ๑๘๕๑ การสำรวจสำมะโนครัวในอังกฤษบ่งชี้ให้เห็นเป็นครั้งแรกว่ามีประชากรอาศัยอยู่ในเขตเมืองมากกว่าอยู่ในเขตชนบท ขณะที่ประเทศอื่นๆ ก็มีแนวโน้มของสังคมเมืองในลักษณะเดียวกันนี้ด้วย แต่เมื่อสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ มีเมืองกว่า ๕๐ แห่งที่มีประชากรมากกว่า ๑ ล้านคน ปัจจุบันประชากรส่วนใหญ่ในทวีปยุโรปมากกว่าร้อยละ ๕๐-๖๐ อาศัยอยู่ในเขตเมืองซึ่งมีขนาดใหญ่

การสร้างสรรค์ทางศิลปวัฒนธรรม

แม้ว่าศิลปวัฒนธรรมของกรีก-โรมัน คือ รากเหง้าของอารยธรรมตะวันตก แต่คริสต์ศาสนาซึ่งเป็นที่ยอมรับในจักรวรรดิมันตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๔ และมีอิทธิพลอย่างมากในโลกตะวันตกจนสมัยกลางได้ชื่อว่า ยุคแห่งศรัทธา (Age of Faith) ก็คือ พลังที่แต่งเติมให้ศิลปวัฒนธรรมของยุโรปบรรลุความงามและความสมบูรณ์แบบ ทั้งมีการสร้างมหาวิหาร (cathedral) ด้วยศิลปะแบบกอทิกไปทั่วยุโรปในระหว่าง ค.ศ. ๑๑๐๐-๑๓๐๐ มีจำนวนมากกว่า ๕๐๐ แห่ง ต่อมาในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance) ที่เริ่มต้นในอิตาลีในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ ยุโรปสามารถฟื้นฟูการศึกษาและผลงานสร้างสรรค์ทางด้านวิจิตรศิลป์ของกรีก-โรมันขึ้นมาใหม่ ศิลปินต่างหวนกลับไปสู่โลกของธรรมชาติ จนเกิดเป็นรูปแบบของศิลปะซึ่งเป็นความงามของธรรมชาติและการวิภาคของมนุษย์ที่จัดว่าเป็นผลงานอันยิ่งใหญ่ของพระเป็นเจ้ามาซักซีโอ (Masaccio, ค.ศ. ๑๔๐๑-๑๔๒๘) เป็นจิตรกรอิตาลีคนแรกที่นำเทคนิคการวาดภาพ ๓ มิติมาใช้ จนเกิดเป็นแนวคิดใหม่ที่ว่าลักษณะที่ สมจริง (realism) นั้นเป็นอย่างไร

ในช่วงระยะเวลานี้ งานจิตรกรรมและงานประติมากรรมก็เริ่มมีความโดดเด่น มีการสร้างงานประติมากรรมเป็นรูปนักบุญประดับประดาตามจัตุรัสต่างๆ รวมทั้งภาพจิตรกรรมฝาผนังปูนเปียก (fresco) ตามผนังของโบสถ์วิหารและบ้านเรือนต่างๆ ศิลปินชาวเฟลมิชหรือดัตช์เป็นพวกแรกที่พัฒนาเทคนิคการวาดภาพสีน้ำมันที่ผสมไข่ขาวและน้ำแทนสีฝุ่น ซึ่งสามารถสร้างสีอ่อนแก่ ดูโปร่งแสง มีรายละเอียดเหมือนภาพถ่ายในปัจจุบัน ในเวลาต่อมาศิลปินอิตาลีก็นำไปพัฒนาเป็นภาพเขียนใส่กรอบประดับฝาภายในอาคารที่พักอาศัย โดนาเตลโล (Donatello, ค.ศ. ๑๓๖๘-๑๔๖๖) เป็นประติมากรคนแรกที่สร้างผลงาน เดวิด (David) เด็กหนุ่มในคัมภีร์ไบเบิล เป็นรูปชายหนุ่มเปลือยในท่ายืนโดดเด่นอย่างอิสระจากข้อบังคับที่เคร่งครัดของสมัยกลาง แต่ก็สะท้อนความเป็นธรรมชาติของมนุษย์

ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ ศิลปกรรมของอิตาลีได้พัฒนาถึงขีดสูงสุดและเป็นแม่แบบให้แก่ศิลปินชาติอื่นๆ ในยุโรป ศิลปินที่มีชื่อเสียงที่สุดของยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ คือ เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonado da Vinci, ค.ศ. ๑๔๕๒-๑๕๑๙ ) ซึ่งถือเป็น มหาศิลปินแห่งศิลปินทั้งปวง ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ รูปแบบของศิลปกรรมในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการก็มีการพัฒนาจนมีรูปแบบอลังการ หรูหรา ฟุ้งเฟ้อ และแวววับด้วยสีทอง เกิดเป็น ศิลปะบาโรก (Baroque) ในอิตาลี ศิลปะบาโรกถูกนำมาใช้เพื่อความยิ่งใหญ่ของคริสต์ศาสนานิการโรมันคาทอลิก ส่วนในฝรั่งเศส ศิลปะบาโรกก็ถูกนำไปใช้เพื่อสร้างความสุขและความหรูหราแก่ชนชั้นสูง เช่น การสร้างพระราชวังแวร์ซายของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ต่อมาศิลปะบาโรกจากราชสำนักก็ขยายเข้าสู่คฤหาสน์ของชนชั้นขุนนาง และในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ เมืองหลวงของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะเยอรมนีก็เกิดการพัฒนารูปแบบงานศิลปะที่ให้อิสระแก่จินตนาการและการใช้แสง โดยเน้นความสว่างมากขึ้นจึงมีผู้เรียกศิลปะบาโรกในระยะเวลาต่อมาว่า ศิลปะโลโกโก (Rococo)

ใน ค.ศ. ๑๘๓๙ ได้มีการประดิษฐ์กล้องถ่ายรูปขึ้น ทำให้การวาดภาพเหมือนคน (portrait) เสื่อมลงจิตรกรหันไปสนใจวาดภาพจากสภาพความเป็นจริงตามธรรมชาติและสังคมมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ ศิลปะเรียลลิสต์หรือสัจนิยม (Realism) มีบทบาทสำคัญในช่วงกลางคริสต์วรรษที่ ๑๙ ภาพวาดแนวสัจนิยมมักถ่ายทอดความเป็นจริงของชีวิตในสังคมอุตสาหกรรม ทั้งความมั่งคั่งของนายทุนและชีวิตของคนยากจนในเมืองใหญ่ ตลอดจนการใช้ชีวิตในชนบท ขณะเดียวกันศิลปินก็นำหลักวิทยาศาสตร์มาประยุกต์กับแนวทางศิลปะ ทำให้ภาพวาดมีลักษณะใหม่ที่สว่างและสดใสมากขึ้น จึงได้ชื่อว่า อิมเพรสชันนิสต์ (Impressionism) จิตรกรที่โดดเด่น เช่น โกลด โมเน (Claude Monet) ปีแยร์ โอกูสต์ เรอนัวร์ (Pierre Auguste Renoir) เป็นต้น

ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ และสงครามโลกครั้งที่ ๒ รูปแบบงานศิลปะพัฒนาก้าวหน้ามากขึ้นในด้านเทคนิคและการแสดงออกโดยศิลปินได้พยายามประยุกต์ใช้เทคนิคใหม่ๆ สร้างงานศิลปะที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคมและยุคสมัย มีการถ่ายทอดอารมณ์และความคิดที่อิสระในรูปแบบต่างๆ ศิลปะแนวใหม่ เช่น ลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรม (Abstract Expressionism) ศิลปะประชานิคม (Pop Art) จลนศิลป์ (Kinetic Art) เป็นต้น ทำให้การสร้างสรรค์งานศิลปะก้าวหน้ามากขึ้น

นอกจากพัฒนาการในด้านต่างๆ ที่ทำให้ชาติตะวันตกมีบทบาทในโลกแล้ว ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ ได้เกิดเหตุการณ์การปฏิวัติครั้งใหญ่ขึ้นในทวีปยุโรป ๓ เหตุการณ์ ได้แก่ การปฏิวัติวิทยาศาสตร์ (Scientific Revolution) ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ การปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) และการปฏิวัติทางภูมิปัญญา (Intellectual Revolution) หรือยุคภูมิธรรม (Age of Enlightenment) ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ และการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution) ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญและมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา เศรษฐกิจ การเมือง ตลอดจนโลกทัศน์ สังคมและวัฒนธรรมของดินแดนต่างๆ ในทวีปยุโรปมากที่สุด

การปฏิวัติวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้แก่ การตั้งข้อสังเกต การตรวจสอบอย่างมีเหตุผลและผ่านการพิสูจน์ทดลอง แลมีข้อสรุปโดยไม่เชื่ออะไรอย่างงมงาย ทำให้ชาติตะวันตกเชื่อมั่นในการเรียนรู้ แสวงหาความเป็นจริงมากขึ้น จนทำให้ชาติตะวันตกนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ไปพัฒนาเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ยารักษาโรคตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ ขณะเดียวกันการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ก็ก่อให้เกิดการปฏิวัติทางภูมิปัญญาหรือยุคภูมิธรรม ที่ทำให้เกิดนักปรัชญาเมธีสำคัญ ได้แก่ จอห์น ลอก (John Locke) มงเตสกีเยอ (Montesquieu) วอลแตร์ (Voltaire) และรูโซ (Rousseau) เจ้าของผลงาน สัญญาประชาคม (Social Contract) ที่คำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพของประชาชน และ เจตจำนงร่วมของประชาชน (General Will) กลายเป็นแรงจูงใจให้ชาวฝรั่งเศสก่อการปฏิวัติฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๗๘๙ เรียกร้องเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ (Liberty, Equality and Fraternity) เพื่อสร้างความเสมอภาคในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ทำให้ในเวลาต่อมามีการล้มระบอบกษัตริย์ในฝรั่งเศสและจัดตั้งระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐขึ้น

ส่วนการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในอังกฤษเป็นแห่งแรกในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ โดยการเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตและระบบการผลิตจากการใช้แรงงานคน สัตว์ และพลังธรรมชาติ มาเป็นการใช้เครื่องจักรกลที่สามารถผลิตสินค้าได้จำนวนมากก็ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ อย่างมาก อีกทั้งยังเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ประเทศมหาอำนาจยุโรปได้เกิดความขัดแย้งกันและเผชิญกับปัญหาต่างๆ เช่น การเรียกร้องอำนาจปกครองตนเองของชนใต้ปกครอง ปัญหาเชื้อชาติ ลัทธิการเมืองตลอดจนการแข่งขันกันเองเพื่อมีอำนาจควบคุมเศรษฐกิจและดินแดนต่างๆ ทั่วโลกที่เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ และจุดยุทธศาสตร์สำคัญจนต้องเข้าสู้รบกันในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ( ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๘ ) และสงครามโลกครั้งที่ ๒ ( ค.ศ. ๑๙๓๙-๑๙๔๕) ซึ่งเกิดความหายนะไปทั่วทำให้ประเทศมหาอำนาจยุโรปเก่า ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส ออสเตรีย และเยอรมนีต่างสูญเสียบทบาทผู้นำและเปิดโอกาสให้สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตก้าวขึ้นมาเป็นประเทศผู้นำของโลกแทน

หลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง ยุโรปต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก ตลอดจนการเร่งบูรณะฟื้นฟูประเทศ ประเทศมหาอำนาจยุโรปตะวันตกต่างสูญเสียบทบาทและอาณานิคมที่เคยเป็นฐานอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองมาเป็นระยะเวลายาวนาน ดังนั้น เพื่อดำรงบทบาทของประเทศผู้นำและสามารถแข่งขันกับสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง และการทหาร กลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกจึงได้พยายามรวมตัวกันเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศของตนอีกครั้ง โดยร่วมประชุมกันและดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เกิดการจัดตั้ง สหภาพยุโรป (European Union:EU) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นานาประเทศในยุโรป (ตะวันตก) มีเอกภาพในการดำเนินนโยบายด้านการเมืองเศรษฐกิจ การเงิน กาป้องกันและการต่างประเทศ ตลอดจนด้านสังคมและวัฒนธรรม

มาตรการสำคัญของการสร้างยุโรปในเชิงบูรณาการ ได้แก่ การสร้างยุโรปของชาวยุโรป (People’s Europe) คือ รวมประเทศต่างๆ ทั้งหมดตั้งแต่ชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกจนถึงเทือกเขายูรัลเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้งนี้ ได้มีการดำเนินการมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๘๕ เพื่อให้ประชากรในประเทศที่มีความแตกต่างกันทั้งในภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความเชื่อและค่านิยมให้ซึมซับความเป็นพวกเดียวกัน

.๓ อิทธิพลของทวีปยุโรปต่อสังคมโลก

ในด้านการเมืองการปกครอง อุดมการณ์ประชาธิปไตยซึ่งเริ่มจากสมัยกรีกที่ส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบต่อรัฐนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งถือเป็นแม่แบบของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ทั้งยังก่อให้เกิดระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญอีกด้วย ที่ยกย่องกษัตริย์เป็นพระประมุขของประเทศแต่ให้อำนาจการปกครองและบริหารประเทศแก่ประชาชน ส่วนโรมันก็มีชื่อเสียงในเรื่องการรักสิทธิ เสรีภาพส่วนบุคคล และการมีระเบียบวินัยของสังคมกฎหมายสิบสองโต๊ะของโรมันได้ให้ความยุติธรรมแก่พลเมืองทุกชนชั้นอย่างทัดเทียมกันและเป็นแม่แบบของการออกประมวลกฎหมายในนานาประเทศทั่วโลก ส่วนงานศิลปะแขนงต่างๆ ของกรีก-โรมัน ก็ถือเป็นต้นแบบในงานสร้างสรรค์ทั่วโลก รวมทั้งอาคารสถานที่คฤหาสน์ พระราชวัง โบสถ์วิหารที่มีให้เห็นกันทั่วไปที่ยังคงนิยมรูปแบบสถาปัตยกรรมกรีก-โรมันอยู่จนถึงปัจจุบัน

ในสมัยกลาง แม้ว่าช่วงเวลาระหว่างการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันใน ค.ศ. ๔๗๖ จนถึงการฟื้นตัวของเมืองในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ แสงของอารยธรรมตะวันตกจะริบหรี่ลงเพราะเกิดจากการรุกรานของพวกอนารยชนจนแทบมืดสนิทนั้น แต่เมื่อยุโรปฟื้นตัวขึ้นอีกครั้ง การสร้างสรรค์ความเจริญและอารยธรรมของยุโรปก็รุดหน้าอย่างรวดเร็ว เมืองในสมัยกลางของยุโรปได้กลายเป็นแม่แบบของเมืองในปัจจุบัน ทั้งได้รูปแบบและการจัดระบบการปกครองแบบเทศาภิบาล มีการเก็บภาษีจากชาวเมือง การจัดการป้องกันตนเอง มีการจัดตั้งธนาคาร การจัดตลาดนัด การกำหนดวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ และอื่นๆ รวมทั้งการเกิดชนชั้นกลางและการสร้างค่านิยมของชนชั้นกลางที่เน้นบทบาทและหน้าที่ที่มีต่อสังคม เช่น การเสียภาษีอากรเพื่อนำรายได้ไปบริหารและป้องกันเมือง ตลอดจนการใฝ่การศึกษาจนก่อให้เกิดมหาวิทยาลัยขึ้น อีกทั้งยังมีการสร้างมหาวิหารกอทิกที่มีลักษณะโดดเด่นเฉพาะและพัฒนามาจากรูปแบบสถาปนาโรมัน และ ถ่ายทอดสู่นานาประเทศทั่วโลกพร้อมกับการเผยแผ่คริสต์ศาสนาซึ่งเป็นที่ยอมรับกันตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๔ ในสมัยจักรวรรดิโรมัน

อิทธิพลของอารยธรรมตะวันตกเป็นที่ประจักษ์มากขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ เมื่อยุโรปก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการค้นพบและการสำรวจ และการปฏิรูปศาสนา ทำให้ชาวคริสต์มีทางเลือกที่จะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของนิกายโรมันคาทอลิกที่เน้นพิธีกรรมและยกย่องให้สันตะปาปาเป็นผู้นำสูงสุดในคริสจักร หรือนิการโปรเตสแตนต์ที่มุ่งการมีศรัทธาหรือความเชื่อ และยึดถือพระคัมภีร์ไบเบิลเป็นหลักปฏิบัติสูงสุด มีการจัดตั้งอาณานิคมและสถาบันการค้าขึ้นทั้งในทวีปเอเชียและทวีปอเมริกา เกิดการแข่งขันกันในการขยายอำนาจของชาติตะวันตกและการเกิดลัทธิพาณิชยนิยมและการปฏิวัติทาวการค้าซึ่งทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนขยายตัวมากขึ้น ส่วนอารยธรรมและภาษาตะวันตก ได้แก่ ภาษาสเปน โปรตุเกส อังกฤษ และฝรั่งเศส ก็ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางรวมทั้งสัตว์ เช่น ม้า วัว ลา และพืช เช่น ส้ม ข้าวโอ๊ต และผลเบอร์รี่ เป็นต้น อีกทั้งการเผยแผ่คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ก็ใช้มิชันนารีและวิธีการรุนแรง ขณะเดียวกันก็มีการละเมิดวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นจนถึงขั้นเช้าทำลายอารยธรรมดังที่เกิดขึ้นกับชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกา นอกจากนี้ ชาวยุโรปยังได้นำเชื้อโรคต่างๆ เช่น โรคไข้ทรพิษ โรคมาลาเรีย และโรคหัด ไปติดชาวพื้นเมืองจนเกิดการล้มตายจำนวนมากอีกด้วย

นับตั้งแต่คริสต์วรรษที่ ๑๗ เป็นต้นมา ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในยุโรปหลายด้าน ได้แก่ การปฏิวัติวิทยาศาสตร์ การปฏิวัติอุตสาหกรรม การปฏิวัติทางภูมิปัญญาในยุคภูมิธรรม และการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งล้วนแต่ปูทางให้ยุโปก้าวสู่การเป็นผู้นำของโลก การปฏิวัติวิทยาศาสตร์ทำให้สังคมตะวันตกก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและวิทยาการต่างๆ มากกว่าดินแดนอื่นๆ ของโลก

ส่วนการปฏิวัติอุตสาหกรรมก็ทำให้ยุโรปเปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรกรรมเป็นสังคมอุตสาหกรรมที่ทันสมัย ประชาชนมีการกินดีอยู่ดีทำให้เศรษฐกิจแบบทุนนิยมขยายตัวอย่างมากและคนจนถูกอัดเอาเปรียบมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็เกิดลัทธิสังคมนิยมที่พยายามสร้างความทัดเทียมทางด้านเศรษฐกิจ ต่อมาในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เกิดลัทธิจักรวรรดินิยมใหม่และการล่าอาณานิคมโพ้นทะเล ซึ่งมีผลต่อการขยายตัวของตลาดการค้าและการย่ำยีอำนาจอธิปไตยของประเทศที่อ่อนแอกว่า การเผยแพร่วัฒนธรรมและภาษาตะวันตกและความเชื่อในคริสต์ศาสนาทั้งนิกายโรมันคาทอลิกและนิกายโปรเตสแตนต์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ยังเป็นยุคของการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และความเป็นธรรมของนักปรัชญาเมธี (philosophe) ในยุคภูมิธรรมที่นำไปสู่การปฏิวัติอเมริกัน ค.ศ. ๑๗๗๖ และการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ ของชนชั้นกลางเพื่อความเป็นประชาธิปไตยตามแนวทางของเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพต่อมายังนำไปสู่การเกิดลัทธิชาตินิยมที่ชนชาติเดียวกันต้องการรวมดินแดนของตนให้เป็นชาติขึ้นหรือกำจัดอิทธิพลของต่างชาติออกไป

ในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ มหาอำนาจยุโรปได้เกิดความขัดแย้งกันในด้านผลประโยชน์และการพยายามจัดระเบียบโลกตามความต้องการของแต่ละประเทศจนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ (ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๘) และสงครามโลกครั้งที่ ๒ (ค.ศ. ๑๙๓๙-๑๙๔๕) หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง ได้มีความพยายามจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศขึ้นเพื่อเสริมสร้างสันติภาพและความร่วมมือของโลก โดยเฉพาะองค์การสหประชาชาติ (United Nations) ซึ่งยังคงมีบทบาทต่อประชาชาติในปัจจุบัน นอกจากนี้ ผลของลัทธิสังคมนิยมที่ต้องการสร้างสังคมแห่งความเสมอภาคที่ปราศจากชนชั้นก็ก่อให้เกิดการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. ๑๙๑๗ ทำให้รัสเซียเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์เป็นประเทศแรกของโลก และได้ขยายตัวจากยุโรปไปสู่ดินแดนต่างๆ ของโลกในเวลาต่อมา ขณะเดียวกันสหรัฐอเมริกาก็เริ่มมีบทบาทในการเมืองโลกมากขึ้น

ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุโรปต้องสูญเสียสถานภาพการเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก และถูกแบ่งแยกออกเป็นยุโรปตะวันตกที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และยุโรปตะวันออกปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ดี ประเทศยุโรปตะวันตกได้วางแผนพัฒนาตัวเองไปสู่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อรักษาความเป็นประเทศผู้นำโลกไว้โดยจัดตั้งสหภาพยุโรปหรืออียู (European Union : EU ) ขึ้นใน ค.ศ.๑๙๙๓ ในปัจจุบันก็เป็นแม่แบบให้แก่สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน (ASEAN ก่อตั้งใน ค.ศ. ๑๙๗๖) ในการรวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วยการสร้างความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคของตนโดยมีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีแห่งอาเซียนหรืออาฟตา (AFTA) และมีการประกาศกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ขึ้นใน ค.ศ. ๒๐๐๙ ที่จังหวัดเพชรบุรี ประเทศไทย

๒. ทวีปอเมริกาเหนือ

ทวีปอเมริกาเหนือเป็นที่ตั้งของำระเทศที่มั่งคั่งด้วยทรัพยากรและความเจริญก้าวหน้าทางด้านต่างๆ มีประเทศที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก อเมริกาเหนือเป็นทวีปใหม่ที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) ชาวเจนัวแห่งอิตาลีค้นพบเป็นครั้งแรกใน ค.ศ. ๑๔๙๒

อเมริกาเหนือเป็นแหล่งอารยธรรมโบราณของโลก อารยธรรมที่สำคัญ คือ อารายธรรมของพวกอินเดียนเผ่ามายา (Maya) และอารยธรรมอัซเต็ก (Aztec) เป็นทวีปที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ ๓ ของโลกรองจากเอเชียและแอฟิกา โดยมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๒๒,๑๒๖,๑๐๖ ตารางกิโลเมตร มีประชากรทั้งหมดประมาณ ๕๔๒ ล้านคน (ค.ศ. ๒๐๑๐) ประชากรส่วนใหญ่ทั้งของสหรัฐอเมริกาและแคนาดาเป็นชนผิวขาวที่สืบเชื้อสายและวัฒนธรรมมาจากยุโรปโดยเฉพาะอังกฤษและฝรั่งเศส จึงเรียกชื่อทั่วไปว่า กลุ่มแองโกลอเมริกา (Anglo America) ส่วนปะชากรในแถบลาตินอเมริกาโดยเฉพาะเม็กซิโกเป็นชนชาติผสมระหว่างพวกอินเดียนพื้นเมืองกับชาวสเปนซึ่งทำให้เกิดลูกผสม ที่เรียกว่า เมสติโซ (Mestizo) และยังมีประชากรลูกผสมที่เกิดจากชาวผิวขาวกับชาวแอฟริกันผิวดำที่เป็นทาส เรียกว่า มูลาตโต (Mulatto) ด้วย ศาสนาหลักที่สำคัญของประชากรในทวีปอเมริกาเหนือ คือ คริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์และนิการโรมันคาทอลิก

๒.๑ ที่ตั้งและสภาพภูมิศาสตร์ที่มีผลต่อพัฒนาการของทวีป

ทวีปอเมริกาเหนือตั้งอยู่ในเขตซีกโลกเหนือทั้งหมด ลักษณะภูมิประเทศคล้ายรูปสามเหลี่ยมโดยมีฐานกว้างอยู่ทางตอนเหนือและมียอดอยู่ทางใต้ แบ่งออกเป็น ๓ ภูมิภาค ซึ่งมีประเทศต่างๆ อยู่รวมกัน โดยมีเนื้อที่ทั้งหมด ๑๐,๙๑๖,๑๓๙ ตารางกิโลเมตร ภูมิภาคอเมริกากลางซึ่งรวมเม็กซิโกด้วยมีเนื้อที่ประมาณ ๒,๔๙๗,๙๘๐ ตารางกิโลเมตร และภูมิภาคเวสต์อินดีสมีเนื้อที่ประมาณ ๒๕๑,๙๘๗ ตาตรงกิโลเมตร สำหรับลักษณะภูมิประเทศและโครงสร้างทางธรณีวิทยาของทวีปอเมริกาเหนือสามารถแบ่งออกเป็น ๓ เขตใหญ่ๆ ดังนี้

ลักษณะภูมิประเทศ

สาระสำคัญ

๑. เขตเทือกเขาสูงภาคตะวันตก

เป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน บริเวณเทือกเขามักเป็นที่ราบสูงหรือแอ่งแผ่นดิน (Basin) คั่นอยู่ เป็นเขตที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุอันมีค่า เช่น ปิโตรเลียม แร่เงิน ทองคำ ตะกั่ว สังกะสี ทองแดง เป็นต้น ทั้งยังอุดมไปด้วยป่าเขา แม่น้ำลำธาร และหุบเขาลึกชันที่สวยงาม

๒. เขตที่ราบตอนกลาง

เป็นบริเวณที่ราบกว้างขวาง ประกอบด้วย เนินและที่ราบสูง พื้นที่ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นลูกคลื่น ที่ราบบางแห่งประกอบด้วยทะเลสาบขนาดใหญ่

๓. เขตภูเขาหินเก่าภาคตะวันออก

เป็นเทือกเขาและที่ราบสูง อุดมไปด้วยทะเลสาบใหญ่น้อย

นอกจากนี้ การที่มีมหาสมุทรแอตแลนติกทางด้านตะวันตกของทวีปและมหาสมุทรแปซิฟิกทางด้านตะวันออกของทวีปก็ทำให้สะดวกต่อการติดต่อค้าขายทางทะเลกับนานาประเทศ และมหาสมุทรทั้งสองก็เป็นพรมแดนธรรมชาติที่ป้องกันการบุกรุกจากประเทศอื่นได้อย่าวดี ทวีปอเมริกาเหนือมีทะเลสาบ น้ำตก และแม่น้ำจำนวนมาก แม่น้ำที่สำคัญที่สุดมี ๓ สาย ได้แก่ แม่น้ำแมกเคนซี (Mackenzie) มีความยาวประมาณ ๑,๘๐๐ กิโลเมตร จัดเป็นแม่น้ำที่ยาวเป็นอันดับ ๒ ของทวีปอเมริกาเหนือเป็นเส้นทางคมนาคมขนส่งทางตอนเหนือของทวีป อยู่ในประเทศแคนาดา แม่น้ำเซนต์ ลอว์เรนซ์ (St.Lawrence) ไหล่ลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติก มีความยาวประมาณ ๑,๒๒๕ กิโลเมตร มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นบริเวณลุ่มแม่น้ำและเป็นเขตอุตสาหกรรมทั้งของแคนาดาและสหรัฐอเมริกา แม่น้ำสายนี้ใช้เดินเรือขนาดใหญ่ได้ตลอดทั้งสาย เนื่องจากมีการขุดคลอง สร้างเขื่อนและประตูน้ำไว้เป็นระยะๆ และแม่น้ำมิสซิสซิปปี (Mississippi) ในสหรัฐอเมริกา มีความยาว ๓,๗๙๒ กิโลเมตร เป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ แม่น้ำและน้ำตกยังเป็นแหล่งกำเนิดพลังงานไฟฟ้าที่ช่วยส่งเสริมการอุตสาหกรรมของประเทศให้เจริญรุดหน้า

การที่ดินแดนส่วนใหญ่ของอเมริกาเหนือมีพื้นที่ตั้งแต่เขตทรอปิกขึ้นไปจนถึงเขตขั้วโลกเหนือทำให้มีภูมิอากาศเกือบทุกประเภทเช่นเดียวกับทวีปเอเชีย เช่น มีเขตภูมิอากาศแบบทุนดราที่มีอากาศหนาวเย็นและยาวนานในฤดูหนาว เขตภูมิอากาศแบบภูเขา ภูมิอากาศแบบทะเลทราย เขตภูมิอากาศแบบป่าดิบชื้น และเขตภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียนที่ค่อนข้างชื้นในฤดูหนาวส่วนฤดูร้อนแห้งแล้งและอบอุ่น เป็นต้น จากเขตภูมิอากาศที่หลากหลายดังกล่าวทำให้อเมริกาเหนืออุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลิตผลทางการเกษตรหลากหลายประเภทและมีแร่ธาตุนานาชนิด รวมทั้งป่าไม้ ป่าไม้มีทั้งป่าไม้ผลัดใบและป่าสนซึ่งเป็นแหล่งที่มาของวัสดุก่อสร้างต่างๆ รวมทั้งการทำกะดาษและเส้นใยสังเคราะห์อื่นๆ อีกมาก นอกจากนี้ บริเวณสองฟากฝั่งมหาสมุทรของทวีปอเมริกาเหนือ โดยเฉพาะชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกยังอุดมสมบูรณ์ด้วยอาหารทะเลเป็นแหล่งประมงที่สำคัญของทวีป

๒.๒ พัฒนาการและกาสร้างสรรค์ด้านต่างๆ

สำหรับพัฒนาการและการสร้างสรรค์ด้านต่างๆ ของทวีปอเมริกาเหนือสามารถสรุปได้ ดังนี้

๑) พัฒนาการด้านการเมืองการปกครอง ทั้งสหรัฐอเมริกาและแคนาดาปกครองในระบอบประชาธิปไตย สหรัฐอเมริกาเดิมเป็นอาณานิคมของอังกฤษซึ่งอังกฤษได้ให้สิทธิการปกครองตนเองในระดับหนึ่ง แต่อังกฤษก็ปกครองอย่างเอาเปรียบและเก็บภาษี ซึ่งทำให้ชาวอาณานิคมอเมริกันไม่พอใจและคิดแยกตัวออกจนนำไปสู่สงครามการปฏิวัติของชาวอเมริกันระหว่าง ค.ศ. ๑๗๗๖-๑๗๘๑ หลังการประกาศเอกราชจากอังกฤษได้สำเร็จ สหรัฐอเมริกาปกครองประเทศแบบสหพันธรัฐสาธารณรัฐ (Federal Republic) ซึ่งมีการแบ่งสรรอำนาจระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลมลรัฐ โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขและมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ คือ ประชาชนเป็นแหล่งที่มาของอำนาจสูงสุด หลังจากนั้นชาวอเมริกันก็ขยายถิ่นฐานจากฝั่งตะวันออกของทวีปไปยังดินแดนทางตะวันตกจรดชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ในช่วงการก่อร่างสร้างประเทศ สหรัฐอเมริกาดำเนินนโยบายแยกตัวอยู่อย่างโดดเดี่ยวโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในยุโรป และประกาศหลักการมอนโร (Monroe Doctrine) ใน ค.ศ. ๑๘๒๓ ห้ามประเทศในยุโรปเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในทวีปอเมริกา

ในช่วงการก่อสร้างประเทศและขยายดินแดนไปทางตะวันตกนั้น ปัญหาทาสเป็นปัญหาสำคัญทางสังคมที่ชาวอเมริกันกำลังเผชิญอยู่ จนนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกันมลรัฐทางภาคเหนือซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมและไม่ใช่แรงงานทาสนิโกรมักขัดแย้งกับมลรัฐทางภาคใต้ซึ่งเป็นเขตเกษตรกรรม ที่มีการปลูกฝ้าย ยาสูบ และข้าวเป็นพืชหลัก ทั้งอาศัยแรงงานทาสนิโกร ชาวอเมริกันทางภาคเหนือเรียกร้องให้มีการยกเลิกระบบทาส แต่ชาวอเมริกันทางภาคใต้ไม่เห็นด้วย นอกจากนี้ ในการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลกลาง มลรัฐภาคใต้มักเสียเปรียบเพราะเป็นเสียงส่วนน้อยในรัฐสภาดังนั้น เมื่อรัฐบาลกลางประกาศยกเลิกทาสโดยมลรัฐทางภาคเหนือและมลรัฐทางภาคตะวันตกให้การสนับสนุน มลรัฐทางภาคใต้จึงประกาศแยกตัวออกจากรัฐบาลกลาง ฝ่ายรัฐบาลกลางจึงเห็นว่ามลรัฐทางภาคใต้เป็นกบฏ สงครามกลางเมืองอเมริกันจึงเกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. ๑๘๖๑-๑๘๖๕ และสิ้นสุดลงด้วยความปราชัยของมลรัฐทางภาคใต้ซึ่งเป็นสรภูมิในการรบ

หลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง สหรัฐอเมริกาก็มีความมั่นคงทางการเมืองและการปกครอง รัฐบาลกลางจะควบคุมและกำหนดนโยบายที่สำคัญในด้านการออกเงินตรา นโยบายต่างประเทศ และการป้องกันประเทศ และให้รัฐบาลมลรัฐมีสิทธิในการปกครองตนเอง ทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลมลรัฐจะแบ่งแยกอำนาจการปกครองเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ซึ่งอำนาจทั้ง ๓ ฝ่ายเป็นอิสระต่อกัน และคอยตรวจสอบ และถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน ในส่วนของรัฐบาลกลาง อำนาจนิติบัญญัติอยู่ที่รัฐสภาบริหารอยู่ที่ประธานาธิบดี และตุลาการอยู่ที่ศาลสูงสุดตามลำดับ หลักการสำคัญของการปกครอง คือ ประชาชนเป็นแหล่งที่มาของอำนาจสูงสุด

ส่วนแคนาดาเดิมเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส แต่ฝรั่งเศสก็ไม่ได้สนใจที่จะปกครองอย่างจริงจังนัก เพราะเห็นว่ายังเป็นดินแดนล้าหลังและไม่มีการสำรวจพื้นที่ทั้งหมดฝรั่งเศสเพียงแต่ใช้แคนาดาเป็นตลาดใหญ่ของการค้าขนสัตว์เท่านั้น เมื่อฝรั่งเศสได้อาณานิคมอเมริกันในทวีปอเมริกาเหนือ อังกฤษจึงต้องการแย่งชิงตลาดการค้าขนสัตว์ของฝรั่งเศสและนำไปสู่การเกิดสงครามระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๗๕๖ ฝรั่งเศสเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และต้องสูญเสียแคนาดาให้อังกฤษ อังกฤษใช้นโยบายประนีประนอมในการปกครองชาวแคนาดาเชื้อสายฝรั่งเศส โดยให้ควิเบก (Quebec) ซึ่งประชากรร้อยละ ๙๙ มีเชื้อสายฝรั่งเศสมีสิทธิปกครองตนเองระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันอังกฤษก็สนับสนุนให้ชาวอังกฤษเข้ามาตั้งถิ่นฐานในแคนาดามากขึ้นการอพยพของชาวอังกฤษที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างมากระหว่างชาวแคนาดาเชื้อสายอังกฤษกับชาวแคนาดาเชื้อสายฝรั่งเศส

แม้อังกฤษจะปกครองแคนาดาอย่างผ่อนปรนแต่ชาวแคนาดาก็ต่อต้านระบบการปกครองอาณานิคมของอังกฤษและเรียกร้องให้ปฏิรูปการเมืองโดยเฉพาะการมีผู้แทนรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง อังกฤษเห็นด้วยในระยะแรกแต่เมื่อชาวแคนาดาเคลื่อนไหวต่อต้านจนนำไปสู่การจลาจล อังกฤษจึงยอมปฏิรูประบบการเมืองและเปลี่ยนรูปแบบการปกครองเป็นสหพันธรัฐใน ค.ศ. ๑๘๖๗ โดยมีสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ ๒ แห่งสหราชอาณาจักรเป็นประมุข ทรงใช้พระราชอำนาจผ่านผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ขณะที่อำนาจบริหารประเทศที่แท้จริงอยู่ที่นายกรัฐมนตรีและรัฐสภา

รัฐสภาแคนาดา ประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎรหรือสภาสามัญที่สมาชิกมาจากการเลือกตั้ง และวุฒิสภาซึ่งสมาชิกมาจากการแต่งตั้ง หน้าที่หลักของวุฒิสภา คือ การให้คำปรึกษาและยับยั้งกฎหมายจากสภาสามัญที่วุฒิสภาไม่เห็นด้วย มีการแบ่งอำนาจระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลมณฑลต่างๆ โดยรัฐบาลกลางดูแลเรื่องสำคัญต่างๆ เช่น การป้องกันประเทศ การค้านโยบายต่างประเทศ การเงิน เป็นต้น รัฐบาลท้องถิ่นในมณฑลต่างๆ มีอำนาจปกครองตนเองสูงโดยบริหารงานผ่านระบบรัฐสภา (แต่ไม่มีวุฒิสภา) เพื่อดำเนินการด้านทรัพยากรธรรมชาติ การศึกษา การคมนาคม และสุขภาพ

ส่วนกลุ่มประเทศในอเมริกากลางโดยเฉพาะเม็กซิโกซึ่งเดิมเป็นอาณานิคมของสเปนและได้ก่อการปฏิวัติประกาศอิสรภาพจากสเปนเป็นผลสำเร็จใน ค.ศ. ๑๘๑๐ หลังการปฏิวัติการเมืองการปกครองก็ไม่มั่นคง เพราะประชากรส่วนใหญ่ยากจน ไม่มีการศึกษา และขาดประสบการณ์และความรู้ความเข้าใจในระบบการเมือง การปกครองจึงเป็นแบบเผด็จกาและมักมีการแย่งชิงอำนาจกันเสมอ อย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ. ๑๙๑๗ มีการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยโดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายหลักของประเทศ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. ๑๙๑๗ ยังคงใช้สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน เม็กซิโกจึงปกครองแบบสหพันธรัฐ มีรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น มีประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขของประเทศและผู้นำรัฐบาลและเป็นผู้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ฝ่านิติบัญญัติมีวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงและการเลือกตั้งแบบสัดส่วน (party list)

๑) พัฒนาการด้านเศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจของประเทศในอเมริกาเหนือเป็นระบบการค้าเสรี ที่เอกราชต่างแข่งขันกันดำเนินการทางธุรกิจอย่างอิสระภายในขอบเขตของกฎหมาย ส่วนรัฐจะควบคุมและดำเนินการทางธุรกิจที่เกี่ยวกับกิจการสาธารณะและสวัสดิภาพของสังคมส่วนรวม ทรัพยากรและแร่ธาตุที่มีอยู่มาก ตลอดจนเงินทุนและแรงงานที่มีคุณภาพจำนวนมากและมีเส้นทางขนส่งที่ดี ทำให้อเมริกาเหนือเป็นทวีปที่เจริญก้าวหน้าทางด้านอุตสาหกรรมที่สำคัญ รายได้ประชาชาติกว่าครึ่งมาจากสินค้าอุตสาหกรรม

ความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการจัดตั้งระบบธนาคารกลางเพื่อควบคุมธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ ให้มั่นคงขึ้นในเรื่องของการให้สินเชื่อ อัตราดอกเบี้ยและการหมุนเวียนของเงิน ขณะเดียวกันรัฐบาลก็จัดระบบประกันสังคม (Social Security System) และโครงการสวัสดิการสังคมด้านต่างๆ เพื่อให้ประชากรมีหลักประกันที่มั่นคงในการดำรงชีวิต การประกันสังคมและโครงการสวัสดิการดังกล่าวจึงมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพด้วย

ส่วนแคนาดา ระบบเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติเพราะเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกยูเรเนียม ถ่านหิน แก๊ส โปแตสเซียม และอื่นๆ อุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมป่าไม้ อุปกรณ์คมนาคม ผลิตภัณฑ์จากกระดาษและเคมีภัณฑ์ การแปรรูปอาหาร เป็นต้น การที่สหรัฐอเมริกาให้ความช่วยเหลือด้านบุคลากรแลเทคโนโลยีสมัยใหม่ แคนาดาจึงเป็นประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อีกประเทศหนึ่งของโลก โดยเขตอุตสาหกรรมจะอยู่บริเวณตอนใต้ส่วนเม็กซิโกและกลุ่มประเทศในอเมริกากลาง รวมทั้งกลุ่มหมู่เกาะเวสต์อินดีสเป็นประเทศกำลังพัฒนา ความเจริญทางเศรษฐกิจยังคงอยู่ในระดับปานกลางเพราะประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและการประมง ระบบเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้มีลักษณะสำคัญที่คล้ายคลึงกัน คือ การพึ่งพาเงินลงทุนจากต่างประเทศและพึ่งพิงสหรัฐอเมริกาและแคนาดาซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญเม็กซิโกและประเทศในกลุ่มอเมริกากลางได้แก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด เช่น การจัดตั้งเขตการค้าเสรีทวีปอเมริกา (Free Trade Area of the Americas : FTAA) ขึ้นและพยายามขยายความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนกับประเทศในภูมิภาค

๒) พัฒนาการด้านสังคมและศิลปวัฒนธรรม ทวีปอเมริกาเหนือมีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ร่วมกัน วัฒนธรรมและวิถีชีวิตจึงเป็นวัฒนธรรมที่ผสมผสาน สหรัฐอเมริกาและแคนาดาซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาวจะมีแบบแผนทางสังคมและวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน โดยสังคมกลุ่มแองโกลอเมริกาจะเป็นสังคมเมืองและสังคมอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐานการครองชีพสูงและเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการ ผู้คนมีความขยันและเชื่อมั่นในการทำศึกษา มีระเบียบวินัยในการทำงาน รักกีฬาเป็นชีวิตจิตใจ และนิยมการเตรียมแผนงานล่วงหน้าตลอดจนชอบความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน

อย่างไรก็ตาม การที่มีชนกลุ่มน้อยต่างๆ อาศัยอยู่ในประเทศเป็นจำนวนมาก เช่น พวกยุโรปตะวันออก จีน อินเดียเม็กซิกัน เป็นต้น ทำให้สังคมและวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมแห่งประเทศ

ส่วนสังคมกลุ่มลาตินอเมริกาในเม็กซิโกและอเมริกากลาง ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นพวกเมสติโซ เป็นสังคมเกษตรที่มีความแตกต่างมากระหว่างเมืองกับชนบท ประชากรส่วนใหญ่ยากจนและจำนวนไม่น้อยอ่านเขียนไม่ได้ ส่วนวัฒนธรรมจะเป็นวัฒนธรรมผสมระหว่างวัฒนธรรมของอินเดียแดงและสเปน และวัฒนธรรมสเปนกับวัฒนธรรมนิโกรแอฟริกาและยุโรปตะวันตกการเต้นรำและดนตรีก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทางวัฒนธรรมและเป็นอัตลักษณ์ที่สำคัญของประเทศแถบนี้ ดนตรีและการเต้นรำที่รู้จักกันดีทั่วโลก คือ แทงโกและแซมบา ในแต่ละปียังมีงานเทศกาลคาร์นิวัลประจำปีซึ่งจัดขึ้นก่อนฤดูถือศีล จะมีการเต้นรำกันอย่างสนุกสนาน

๒.๓ อิทธิพลของทวีปอเมริกาเหนือต่อสังคมโลก

สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่มั่งคั่งและมีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ มากที่สุดในทวีปอเมริกาเหนือได้ชื่อว่าเป็นผู้นำการปกครองระบอบประชาธิปไตยอุดมการณ์ทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาที่ถือว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกันและทุกคนต้องได้รับสิทธิตามธรรมชาติที่ผู้ใดจะลิดรอนหรือบิดเบือนไปไม่ได้ ก็เป็นหลักการปกครองที่นานาประเทศทั่วโลกยอมรับ และทำให้อุดมคติอเมริกันที่ว่า รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชนแพร่หลายไปทั่วโลก ส่วนแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะสิทธิ เสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นและการนับถือศาสนาก็เป็นแนวทางการปกครองที่ประเทศต่างๆ นำไปใช้ในการปกครองประเทศ สหรัฐอเมริกาจึงเป็นประเทศอภิมหาอำนาจที่เป็นผู้นำของประเทศต่างๆ ในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย

ความก้าวหน้าทางการคมนาคมสื่อสารและเทคโนโลยียังทำให้อเมริกาเหนือโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศชั้นนำในการพัฒนาด้านการสื่อสารนำแบบแผนชีวิตและวัฒนธรรมอเมริกันเผยแพร่ไปทั่วโลก เช่น ดนตรีอเมริกัน ภาพยนตร์ฮอลลีวูด อาหารจานด่วน และอื่นๆ ทำให้ผู้คนทั่วโลกรู้จักและคุ้นเคยกับวัฒนธรรมอเมริกัน

นอกจากนี้ ความเป็นผู้นำของสหรัฐอเมริกาในด้านเทคโนโลยีเรื่องไมโครชิป คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมถึงการถ่ายทอดสดเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ผ่านดาวเทียมทำให้ผู้คนทั่วโลกกลายเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน โลกก็ถูกย่อให้มีขนาดเล็กลง กระแสโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่เกิดขึ้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในอเมริกาเหนือก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในประวัติศาสตร์โลก

ความเป็นผู้นำด้านอวกาศและนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้อเมริกาเหนือมีบทบาทโดดเด่นด้านความมั่นคงทางการเมืองและเป็นผู้นำทางการทหารของโลกได้ทำให้ประชาคมโลกตระหนักถึงอำนาจความน่ากลัวของอาวุธนิวเคลียร์ สหรัฐอเมริกาจึงมีบทบาทสำคัญในการจะช่วยสร้างโลกที่มีสันติภาพ เพราะสามารถผลักดันเรื่องการลดกำลังอาวุธและเลิกล้มการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งจะนำไปสู่การร่วมมือกันในการป้องกันการเกิดสงคราม นอกจากนี้ ความสำเร็จของสหรัฐอเมริกาในการส่งมนุษย์เดนทางไปสู่อวกาศและถ่ายทอดเรื่องราวการเดินทางไปนอกโลกทำให้ผู้คนทั่วโลกสามารถเห็นโลกที่ตนอาศัยอยู่ได้เป็นครั้งแรก และต่างตระหนักถึงความสำคัญของโลกและภัยร้ายแรงของอาวุธนิวเคลียร์ที่สามารถทำลายโลกได้ภายในพริบตา แนวความคิดของการป้องกันโลกไม่ให้ถูกทำลาย ก็ได้นำไปสู่การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันและการพยายามจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ของโลก

๓. ทวีปอเมริกาใต้

ทวีปอเมริกาใต้เป็นดินแดนส่วนใหญ่ของดินแดนที่เรียกว่า ลาตินอเมริกา ประกอบด้วย ๑๙ ประเทศ มีอาณาเขตตั้งแต่ตอนเหนือของประเทศเม็กซิโกจนถึงตอนใต้สุดของทวีปอเมริกาใต้ ประเทศส่วนใหญ่เคยเป็นอาณานิคมของสเปน จากสภาพภูมิประเทศที่เป็นแนวภูเขายาวเหยียด ที่ราบสูงทะเลทรายและป่าดงดิบ ทำให้ใช้ประโยชน์จากที่ดินไม่สะดวก การขาดแคลนเงินทุนทำให้ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากภายนอก จึงเปิดโอกาสให้มหาอำนาจเข้าไปมีอิทธิพลและแสวงหาผลประโยชน์ขณะเดียวกันการเมืองที่เปลี่ยนแปลงอยู่เนืองๆ ก็ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน

๓.๑ ที่ตั้งและสภาพภูมิศาสตร์ที่มีผลต่อพัฒนาการของทวีป

ทวีปอเมริกาใต้เป็นทวีปที่ใหญ่เป็นอันดับ ๔ ของโลก พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตซีกโลกใต้โดยพื้นที่ทั้งหมดประมาณ ๑๗.๘ ล้านตารางกิโลเมตร สำหรับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศได้รับอิทธิพลจาก ๒ องค์ประกอบหลัก ดังนี้

๑) เทือกเขาแอนดีส ทอดตัวยาวจากเหนือจรดใต้ขนานไปกับชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกราวกับกระดูกสันหลังของทวีป มีระยะทางประมาณ ๗,๖๕๐ กิโลเมตร ประกอบด้วยภูเขาไฟหลายลูก จึงทำให้มีการทำเกษตรกรรมในที่สูงสุดซึ่งใช้ประโยชน์จากดินภูเขาไฟ บรรดาอาณาจักรของชาวพื้นเมืองก่อนถูกชาติตะวันตกรุกรานจึงก่อตั้งในเขตเทือกเขานี่รวมทั้งจักรวรรดิอินคา (Incas) หลังสเปนเข้ายึดครองแล้วก็พบอีกว่าเป็นเขตที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุ จึงสร้างความมั่งคั่งอย่างมหาศาล

๒) แม่น้ำแอมะซอน เป็นแม่น้ำสายยาวอันดับ ของโลกรองจากแม่น้ำไนล์อยู่ใต้เส้นศูนย์สูตรเล็กน้อย มีต้นน้ำเริ่มจากเขตหิมะละลายในเทือกเขาแอนดีสบริเวณประเทศเปรู จากนั้นสาขาต่างๆ ไหลมาบรรจบกัน โดยไหลจากเขตที่สูงฝั่งตะวันตกสู่ที่ราบฝั่งตะวันออกระยะทางประมาณ ๖,๒๗๕ กิโลเมตร ผ่านบริเวณป่าดงดิบเป็นส่วนใหญ่ เขตป่าฝนของแม่น้ำแอมะซอนนี่นับเป็นเขตป่าฝนที่กว้างใหญ่ที่สุดของโลกด้วย จึงเรียกว่าเป็นเขตปอดของโลก

๓.๒ พัฒนาการและการสร้างสรรค์ด้านต่างๆ

สำหรับพัฒนาการและการสร้างสรรค์ด้านต่างๆ ของทวีปอเมริกาใต้สามารถสรุปได ดังนี้

๑) พัฒนาการด้านการเมืองการปกครอง ประเทศในอเมริกาใต้ส่วนใหญ่ได้เอกราชในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ แต่สาธารณรัฐใหม่ต่างๆ ไม่มีประสบการณ์การบริหารระดับประเทศ ทำให้นายทหารที่เรียกว่า พวกกอดิลโย(caudillos) สามารถยึดอำนาจการปกครองหรืออยู่เบื้องหลังคอยชี้นำรัฐบาลระบบเผด็จการหรืออำนาจนิยมเข้าครอบคลุมในหลายประเทศ รวมทั้งบราซิลและอาร์เจนตินา

ประเทศต่างๆ ถึงแม้มีการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ประธานาธิบดีที่ขึ้นสู่ตำแหน่งด้วยการเลือกตั้ง ค่อยๆ กลายเป็นผู้ใช้อำนาจเด็ดขาดในการบริหาร สามารถยับยั้งการประชุมของรัฐบาล ขัดขวางการบังคับใช้กฎหมาย หรือประกาศภาวะฉุกเฉินซึ่งเป็นการเปิดทางให้ใช้อำนาจได้อย่างถูกต้อง บางแห่งสถาบันกองทัพมีอำนาจและมีคณะผู้นำทหารหรือฮุนตา (junta) ปกครอง แต่ยางแห่งคณะทหารเลือกที่จะเชิดบุคคลขึ้นเป็นประธานาธิบดีหุ่น ดังนั้น หลังได้รับเอกราชแล้วมีเพียงชิลีและอุรุกวัยที่สามารถหันไปสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยหลังกลุ่มทหารหมดอำนาจ อย่างไรก็ดี ปัญหาเศรษฐกิจของชิลีทำให้ทหารอาศัยเป็นข้ออ้างก่อรัฐประหารอีกใน ค.ศ. ๑๙๗๓ โดยนายพลออกุสโต ปิโนเซต์ (Augusto Pinochet)

จากปัญหาเศรษฐกิจและช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนทำให้ลัทธิสังคมนิยมและลีทธิคอมมิวนิสต์แพร่หลายในหมู่พลเมืองด้วย ยิ่งนายพลฟิเดล คัสโตร (Fidel Castro) แห่งคิวบาหันไปรับความช่วยเหลือจากสหภาพโซเวียต จึงเกิด การแข่งขันอิทธิพลระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตดินแดนอเมริกาใต้ การเรียกร้องให้มีการกระจายรายได้ การตั้งกลุ่มผู้ก่อการร้ายในเขตเมือง และการรวมตัวเป็นกองโจรในเขตชนบทได้ก่อความรุนแรงหลายแห่งจนกองทัพต้องเข้ายึดอำนาจ

ประมาณ ค.ศ. ๑๙๘๐ ประเทศในทวีปอเมริกาใต้ส่วนใหญ่ปกครองโดยนายทหารระดับสูง ซึ่งประกาศตนเป็นศัตรูของผู้ก่อการร้ายทั้งในเขตเมืองและชนบท แต่ในปลายศตวรรษ ๑๙๘๐ พลเมืองเรียกร้องให้กลับสู่ระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น นายทหารระดับสูงถูกบังคับให้ลาออกจากตำแหน่ง ดังเช่น นายพลปิโนเชต์แห่งชิลีใน ค.ศ. ๑๙๘๙ เพื่อให้ประเทศบริหารโดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งในทศวรรษแรกของคริสต์ศตวรรษที่ ๑ มักจะเป็นรัฐบาลที่มีแนวนโยบายไปทางซ้ายก็ยังคงเผชิญกับปัญหาผู้ก่อการร้ายและปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากภาวะเงินเฟ้อและหนี้ต่างประเทศรุมเร้าต่อไป

๒) พัฒนาการด้านเศรษฐกิจ ดินแดนอเมริกาใต้จัดว่าเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุและทรัพยากรธรรมชาติ พลเมืองร้อยละ ๒๐ ของทวีปทำงานในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ บางประเทศผลิตแร่เพื่อการส่งออกอย่างจริงจัง เช่น โบลิเวียมีรายได้เข้าประเทศร้อยละ ๙๐ จากการส่งออกดีบุก ซูรินาเมมีรายได้ร้อยละ ๘๐ จากการขุดแร่อะลูมิเนียม ชิลีมีรายได้ครึ่งหนึ่งมาจากการส่งออกทองแดง เวเนซุเอลามีน้ำมัน เป็นต้น ปัจจุบันต่างมีความพยายามที่จะไม่ผูกติดเศรษฐกิจกับทรัพยากรประเภทใดประเภทหนึ่ง

โดยภาพรวม เศรษฐกิจของทวีปยังคงมาจากผลิตผลทางการเกษตรเป็นหลัก เช่น เอกวาดอร์ผลิตกล้วยหอม โคลอมเบียและบราซิลผลิตกาแฟ บางแห่งก็มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น การผลิตน้ำผลไม้ เนยแข็ง เป็นต้น นอกจากนี้ ทวีปอเมริกาใต้ยังส่งออกเนื้อสัตว์และขนสัตว์ โดยที่อาร์เจนตินาเป็นประเทศสำคัญที่ส่งออกเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากหนังสัตว์

การพัฒนาและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของอเมริกาใต้เริ่มขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับการได้รับเอกราช กล่าวคือ ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เป็นช่วงของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ความต้องการวัตถุดิบจากอเมริกาใต้จึงอยู่ในระดับสูงแต่สาธารณรัฐแต่ละแห่งมักจะมุ่งผลิตสินค้าหลักเพียง ๑-๒ ประเภทเท่านั้น เช่น ชิลีผลิตทองแดง โปลิเวียผลิตดีบุก อาร์เจนตินาและอุรุกวัยส่งออกเนื้อสัตว์และข้าวสารี บราซิลและโคลอมเบียผลิตกาแฟ เป็นต้น

การขยายตัวทางการค้าก่อให้เกิดชนชั้นกลางกลุ่มใหม่ซึ่งมีบทบาทในสังคมอย่างรวดเร็ว ประเทศต่างๆ ประสบปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน เมื่อช่องว่างกว้างมากขึ้นจึงเกิดการสนใจแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจด้วยการรับลัทธิสังคมนิยม เช่น ในชิลี โดยประธานาธิบดีซัลวาดอร์ อัลเยนเด (Salvador Allende) ใน ค.ศ. ๑๙๗๐ มีการโอนกิจการกว่า ๒๐ แห่ง เป็นของรัฐ จนทำให้ผู้เสียผลประโยชน์ไม่พอใจในที่สุดกองทัพจึงได้ก่อรัฐประหารยึดอำนาจเป็นต้น ปัญหาเศรษฐกิจสามารถส่งผลกระทบต่อเสถียราพทางการเมืองอย่างรุนแรงและเป็นสิ่งที่ผู้นำรัฐบาลประเทศลาตินอเมริกาต่างตระหนักอยู่เสมอ

๓. พัฒนาการด้านสังคมและศิลปวัฒนธรรม ประชากรในอเมริกาใต้ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ดังนี้

๓.๑) พวกอินเดียน เป็นชนพื้นเมืองของอเมริกา ปัจจุบันยังมีจำนวนมาก โดยอาศัยอยู่ในเปรูและโบลิเวีย

๓.) พวกที่สืบเชื้อสายจากชาวยุโรป เขตที่อยู่สำคัญ คือ อาร์เจนตินาและอุรุกวัยซึ่งมีพลเมืองเชื้อสายอิตาลี สเปน ฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมันอาศัยอยู่

๓.๓) พวกที่สืบเชื้อสายจากพวกทาสที่นำเข้ามาจากทวีปแอฟริกา ได้แก่ พวกเชื้อชาติผสมระหว่างชาวอินเดียนกับชาวยุโรป ที่เรียกว่า เมสติโซ (mestizo) จำนวนมากอยู่ในปารากวัย เวเนซุเอลา ชิลี และเอกวาดอร์ พวกเชื้อชาติผสมระหว่างเผ่าพันธุ์แอฟริกันกับยุโรปเรียกว่า มูลาตโต (mulatto) และยังมีพวกผสมระหว่างแอฟริกันกับอินเดียนอีกด้วย

สังคมของอเมริกาใต้จึงเป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ข้างต้น ด้านการนับถือศาสนา พลเมืองส่วนใหญ่นับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกตามสเปนและโปรตุเกส ในประเทศกายอานาซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษจนกระทั่ง ค.ศ. ๑๙๖๖ มีผู้นับถือนิกายโปรเตสแตนต์จำนวนไม่น้อย สำหรับประเทศซูรินาเมซึ่งเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์จนกระทั่ง ค.ศ. ๑๙๗๕ ประชากรประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศสืบเชื้อสายมาจากชาวอินเดีย ทำให้มีคนจำนวนมากนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และยังมีพวกที่มีความเชื่อแบบชาวแอฟริกันดั้งเดิมอีกด้วย

๓.๓ อิทธิพลของทวีปอเมริกาใต้ต่อสังคมโลก

ทวีปอเมริกาใต้เป็นดินแดนแห่งอารยธรรมเก่าแก่ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกจนเป็นแหล่งรายได้สำคัญของหลายประเทศ บางประเทศอย่างเวเนซุเอลาก็เป็นประเทศผลิตน้ำมันรายใหญ่และเป็นสมาชิกกลุ่มโอเปก (Organization of Petroleum Exporting Countries : OPEC) ซึ่งมีอิทธิพลต่อการกำหนดราคาน้ำมันในตลาดโลก ประเทศบราซิลนอกจากจะมีเมืองรีอูดีจาเนรู (Rio de Janeiro) ที่มีสีสันทางวัฒนธรรมผสมแล้ว ยังมีป่าแอมะซอนอันกว้างใหญ่ไพศาล

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ประเทศในอเมริกาใต้ประสบกับปัญหาการขาดดุลงบประมาณอันเนื่องมาจากการบริหารการคลังที่ไม่รัดกุม การเป็นหนี้เงินกู้ต่างประเทศจำนวนมหาศาล ขณะที่แหล่งรายได้ต่างๆ ก็ต้องได้รับการจัดการดูแลมากขึ้น รวมทั้งป่าแอมะซอนที่ให้ความชุ่มชื้นก็ถูกแผ้วถางทำลายลงเรื่อยๆ ทุกปีเพราะการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจจนอาจกระทบต่อระบบนิเวศของโลกในไม่ช้า

รัฐบาลของประเทศต่างๆ ในทวีปอเมริกาใต้ ได้แสดงความพยายามที่จะร่วมมือกันในการสร้างความมั่นคงทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองมาตั้งแต่ ค.ศ. ๒๐๐๔ และได้เริ่มกระบวนการรวมสหภาพศุลกากร แห่ง คือ ประชาคมแอนเดียน (Andean Community) และเมอร์โคซูร์ (Mercosur) จนมีการก่อตั้งสหภาพแห่งประชาชาติอเมริกาใต้ (Union of South American Nations : UNASUR) เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. ๒๐๑๑ โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เอกวาดอร์ (Ecuador) การรวมตัวนี้ได้ใช้แนวทางของสหภาพยุโรปเป็นแม่แบบ คาดว่าจะสมบูรณ์ใน ค.ศ. ๒๐๑๙ ซึ่งจะทำให้อเมริกาใต้เป็นกลุ่มการค้าเสรีใหญ่อันดับ ๓ ของโลก

๔. ทวีปแอฟริกา

ทวีปแอฟริกาเป็นทวีปที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ ๒ ของโลกรองจากทวีปเอเชีย และมีความเกี่ยวพันกับมนุษย์มานาน เพราะจากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า มนุษย์รุ่นแรกสุดถือกำเนิดขึ้นในดินแดนฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกาเมื่อประมาณ ,๕๐๐,๐๐๐ ปีมาแล้วในบริเวณที่เป็นประเทศเคนยาแลประเทศเอธิโอเปียปัจจุบัน แม้แอฟริกาจะเป็นถิ่นกำเนิดของมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุด แต่กลับเป็นทวีปที่มีผู้คนรู้จักน้อยที่สุดและเป็นทวีปที่มีระดับการพัฒนาล้าหลังที่สุด มีทะเลทรายกว้างใหญ่ ป่าดงดิบ และที่ราบสูงเป็นอุปสรรคที่สำคัญมากต่อการพัฒนาและการคมนาคมติดต่อระหว่างกัน

๔.๑ ที่ตั้งและสภาพภูมิศาสตร์ที่มีผลต่อพัฒนาการของทวีป

ทวีปแอฟริกาเป็นทวีปที่มีเส้นศูนย์สูตรพาดผ่านเกือบกลางทวีป ตั้งอยู่ทางใต้ของทวีปยุโรปทวีปแอฟริกามีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๐ ล้านตารางกิโลเมตร มีประชากรมากกว่า ๑,๐๐๐ ล้านคน (ค.ศ. ๒๐๐๙) กระจายอยู่ใน ๕๔ ประเทศ มีอยู่ ๑๕ ประเทศที่ไม่มีพรมแดนติดทะเลประชากรกระจุกตัวตั้งถิ่นฐานกันมากในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ ที่ราบแคบๆ ชายฝั่งทะเล และบริเวณที่มีภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียนทางเหนือและทางใต้ของทวีป ซึ่งเหมาะแก่การทำเกษตรกรรม อันเป็นอาชีพหลักของคนส่วนใหญ่

ประชากรอาศัยอยู่แบบเบาบางมากในบริเวณที่เป็นทะเลทรายและบริเวณป่าดงดิบในลุ่มแม่น้ำคองโก ซึ่งเป็นป่าฝนร้อนชื้นแถบศูนย์สูตรที่เต็มไปด้วยบึง ที่ลุ่ม และต้นไม้สูงใหญ่ขึ้นเบียดกันทึบจนร่มครึ้มและมีฝนตกชุก

ทวีปแอฟริกานี้ได้ชื่อว่าเป็น ทวีปแห่งที่ราบลุ่ม (Plateau Continent) กล่าวคือ พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่เหนือระดับน้ำทะเลตั้งแต่ ๑๕๐-๑,๔๐๐ เมตร มีเทือกเขาแอตลาส (Atles) ทางเหนือ เทือกเขาดราเคนส์เบิร์ก (Drakensberg) ทางใต้ และที่ราบสูงแอฟริกาตะวันออก เป็นต้น มีภูเขาสูงสุด คือ ภูเขาคิริมันจาโร (Kilimanjaro)

การที่ทวีปแอฟริกาล้าหลังและค่อนข้างอยู่โดดเดี่ยวจากผู้คนในทวีปอื่นก็เพราะปัจจัยทางด้านภูมิศาสตร์เป็นสำคัญ กล่าวคือ

๑. มีทะเลทรายสะฮาราครอบคลุมอาณาบริเวณกว้างใหญ่ทางตอนเหนือ จึงขีดคั่นดินแดนแอฟริกาเหนือซึ่งมีภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียนกับดินแดนส่วนอื่นของทวีป พัฒนาการของปะเทศแถบทางเหนือ เช่น อียิปต์ ลิเบีย ตูนิเซีย จึงแตกต่างจากส่วนอื่นๆ และมีระดับการพัฒนาที่สูงกว่า

๒. มีพื้นที่ขนาดใหญ่ตอนกลางประเทศเป็นป่าฝนร้อนชื้นหรือป่าดิบชื้นที่ทำให้การคมนาคมสัญจรลำบาก และมีโรคภัยเขตร้อนชุกชุมโดยเฉพะโรคมาลาเรีย

๓. แม่น้ำในทวีปแม้จะเป็นสายยาวแต่ไม่ไหลลงทะเลหรือมหาสมุทร อาจลงทะเลสาบหรือไหลผ่านเกาะแก่งและกลายเป็นน้ำตก ทำให้ชาวแอฟริกันไม่สามารถใช้แม่น้ำเพื่อการคมนาคมขนส่งจากชายฝั่งเข้าไปตอนในของทวีป

๔. การขนส่งสินค้าทางทะเลไม่สะดวก เพราะขาดแคลนทั้งเมืองท่า และท่าเรือดีๆ เนื่องจากชายฝั่งของทวีปเว้าแหว่งน้อย เป็นที่ราบสูงชันโดยเฉพาะทางภาคตะวันออก จึงไม่อำนวยต่อการสร้างท่าเทียบเรือหรือทำการประมง

๔.๒ พัฒนาการและการสร้างสรรค์ด้านต่างๆ

สำหรับพัฒนาการและสร้างสรรค์ด้านต่างๆ ของทวีปแอฟริกาสามารถสรุปได้ ดังนี้

๑) พัฒนาการด้านการเมืองการปกครอง นับตั้งแต่โปรตุเกสจัดตั้งสถานีการค้าตามชายฝั่งแอฟริกาและส่งชาวแอฟริกันพื้นเมืองไปเป็นแรงงานให้ผู้ประกอบการโพ้นทะเลชาวยุโรปในทวีปอเมริกา ชาติตะวันตกอื่นๆ ก็พากันเข้าไปหาประโยชน์จากดินแดนในทวีปแอฟริกาโดยเฉพาะเมื่อเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ จนก่อให้เกิดการแย่งกันจับจองดินแดนแอฟริกาเป็นอาณานิคม การเรียกร้องเอกราชของดินแดนในแอฟริกาประสบความสำเร็จครั้งแรกในปลายทศวรรษ ๑๙๕๐ เมื่อโกลด์โคสต์ (Gold Coast) เป็นอิสระจากอังกฤษใน ค.ศ. ๑๙๕๗ และใช้ชื่อประเทศว่า กานา มีดินแดนไม่กี่แห่งที่ต้องต่อสู้เพื่ออิสรภาพอย่างรุนแรง ได้แก่ แอลจีเรีย โมซัมบิก และแองโกลา ส่วนอาณานิคมบางแห่ง เช่น คองโก (ซาอีร์) ไนจีเรีย เมื่อได้รับเอกราชแล้วได้เกิดสงครามกลางเมืองตามมาเพราะความแตกแยกขัดแย้งกันเองในหมู่ชาวพื้นเมือง กระบวนการได้รับเอกราชของอาณานิคมในแอฟริกาสิ้นสุดลงเมื่อนามิเบียแยกตัวออกจากแอฟริกาใต้สำเร็จใน ค.ศ. ๑๙๘๙ ภายหลังได้เอกราชบรรดาผู้คนเชื้อสายของประเทศผู้ปกครองเดิมส่วนใหญ่อพยพกลับถิ่นฐาน และเกิดปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศใหม่ขึ้นหลายแห่ง เช่น ที่ไนจีเรีย ยูกันดา เพราะพลเมืองมาจากต่างเผ่า (tribes) และมีความภักดีต่อเผ่าดั้งเดิมของตน

สำหรับรูปแบบการปกครองมักจะดำเนินตามเมืองแม่เดิมของแต่ละแห่ง แต่ระบอบประชาธิปไตยที่สถาปนาขึ้นขาดเสถียรภาพ ทำให้บางแห่งเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบเผด็จการและการทำรัฐประหารของฝ่ายทหาร การปราบปรามผู้ต่อต้านทำให้เกิดการโค่นล้มผู้นำตามมา

ความไม่มั่นคงทางการเมืองนั้นยังเป็นการเปิดโอกาสให้เป็นเวทีของการแข่งขันอำนาจระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามเย็น (Cold War) มีหลายดินแดนหรือหลายกลุ่มที่ได้รับความช่วยเหลือด้านกำลังและอาวุธเพื่อมาสู้รบกับคนในแอฟริกาด้วยกันเอง ตั้งแต่ ค.ศ. ๒๐๑๑ ได้เกิดเหตุการณ์ขับไล่ผู้นำชาติในแอฟริกาที่บริหารประเทศมานาน ซึ่งมีปัญหาคอร์รัปชั่น การรอนสิทธิเสรีภาพของพลเมือง ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โดยเริ่มจากตูนิเซีย อียิปต์ ลิเบีย

๒) พัฒนาการด้านเศรษฐกิจ คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงสภาพความอดอยาก และความแร้นแค้นในการครองชีพของชาวแอฟริกันมากกว่าที่จะนึกว่าทวีปนี้เป็นแหล่งผลิตเพชร (Johannesburg) ได้ชื่อว่าเป็น นครแห่งทองคำ และเมืองคิมเบอร์ลีย์ (Kimberley) ได้ชื่อว่า นครแห่งเพชร ส่วนประเทศกานาเมื่อครั้งเป็นอาณานิคมของอังกฤษก็ได้ชื่อว่า ชายฝั่งทองคำหรือโกลด์โคสต์ (Gold Coast) ทั้งนี้เพราะเขตความเจริญทางเศรษฐกิจของทวีปปรากฏเป็นเพียงจุดเล็กๆ บนแผนที่เท่านั้น ประชากรร้อยละ ๗๐ ยังคงอาศัยอยู่ในหมู่บ้านหรือเมืองขนาดเล็ก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ชาวแอฟริกันยังคงเป็นชาวชนบท ซึ่งส่วนใหญ่ดำรงชีพด้วยการเพาะปลูก จากรายงานการพัฒนามนุษย์ของสหประชาชาติ ค.ศ. ๒๐๓ ประเทศที่อยู่ในลำดับที่ ๑๕๑-๑๗๕ ล้วนอยู่ในทวีปแอฟริกาทั้งสิ้น

สำหรับมูลเหตุแห่งความล้าหลังทางเศรษฐกิจของทวีปแอฟริกาสามารถสรุปได้ ดังนี้

๒.๑) การตกอยู่ภายใต้การชี้นำทางเศรษฐกิจของประเทศตะวันตกที่เข้ามาตั้งอาณานิคม เมื่อได้รับเอกราชใหม่ๆ เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ มักขึ้นอยู่กับการส่งออกผลิตผลทางการเกษตรหรือแร่ธาตุเพียงชนิดเดียว การพึ่งพิงการผลิตสินค้าประเภทเดียวจะถูกกระทบอย่างรุนแรงจากอัตราการขึ้นลงของราคาในตลาดโลก ประเทศต่างๆ ในปัจจุบันจึงพยายามขยายประเภทของสินค้าและกระจายสินค้าสู่วงกว้าง ไม่ได้ตลาดที่รองรับมีเพียงผู้ซื้อไม่กี่ราย

.๒) ความลำบากในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและการคมนาคมขนส่งสินค้าและวัตถุดิบในทวีป เพราะมีอุปสรรคที่เกิดจากสภาพภูมิศาสตร์ โดยเฉพาะจากแม่น้ำสายหลัก ๔ สาย ได้แก่ แม่น้ำไนล์ แม่น้ำคองโก แม่น้ำไนเจอร์ และแม่น้ำแซมบีซี แม่น้ำทั้ง ๔ สายมีกำเนิดมาจากบริเวณที่สูงตอนกลางของทวีป บางตอนไหลผ่านที่สูงชันเป็นหน้าผาหรือเกาะแก่ง น้ำจะไหลเชี่ยวมาก ทำให้ไม่สามารถเดินเรือไก้ตลอด พื้นที่ที่เป็นทะเลทราย ป่าร้อนชื้น น้ำตก และที่ราบสูง ก็ทำให้ยากต่อการตัดเส้นทางรถไฟผ่านทวีป บริการรถไฟจึงมักเป็นเพียงสายสั้นๆ เชื่อมเขตไร่ขนาดใหญ่หรือเขตเหมืองแร่กับเมืองท่าริมฝั่งทะเล นอกจากนี้ การเกิดกรณีพิพาทระหว่างประเทศหรือกลุ่มชนก็กระทบกระเทือนการเชื่อมต่อดินแดนต่างๆ ด้วย

๒.๓) การทำเกษตรกรรมไม่ได้ผลดี นอกจากเพราะขาดแคลนเทคโนโลยีแล้วยังเนื่องมาจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศแห้งแล้ง บริเวณที่เพาะปลูกอยู่ในเขตฝนตกน้อยและอากาศร้อน การระเหยของน้ำเป็นไปอย่างรวดเร็ว การเกษตรที่ได้ผลดีจะอยู่ในเขตที่ชาวยุโรปเข้าไปบุกเบิกด้วยการทำไร่ขนาดใหญ่ มีเทคโนโลยีทันสมัย เช่น ในเคนยามีการทำไร่กาแฟขนาดใหญ่ ไนจีเรียทำไร่ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น

บางประเทศพยายามหารายได้โดยการนำจุดเด่นของทวีมาใช้ประโยชน์ เช่น การกำหนดเขตอุทยานสัตว์ป่าและให้นักท่องเที่ยวเข้าชมสัตว์ในสภาพธรรมชาติ เช่น ในประเทศแอฟริกาใต้ ซิมบับเว แคเมอรูน เคนยา แทนซาเนีย บูร์กินาฟาโซ เป็นต้น อย่างไรก็ดี การที่ประชากรแอฟริกันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้พลเมืองบางส่วนโดยเฉพาะชาวไร่และผู้เลี้ยงสัตว์ไม่เห็นด้วยกับการใช้ที่ดินในลักษณะนี้โดยเฉพาะที่เคนยา รัฐบาลจึงต้องแก้ปัญหาโดยนำเงินที่ได้จากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมาจ่ายให้แก่ชาวบ้านที่ดำรงชีพอยู่ใกล้ๆ เขตอุทยาน

๓) พัฒนาการด้านสังคมและศิลปวัฒนธรรม พลเมืองในทวีปแอฟริกาแบ่งออกเป็น กลุ่มใหญ่ คือ พวกแอฟริกาผิวดำและพวกคอเคเซียน พวกแรกจะมีจำนวนมากกว่าและดำรงชีพอยู่ทั่วไป ส่วนทางเหนือมักจะเป็นพวกเชื้อสายคอเคเซียน ซึ่งเป็นพวกอาหรับผสมกับชนพื้นเมือง เช่น พวกเบอร์เบอร์ (Berbers) ชาวแอฟริกันเขตนี้จะมีความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมและเชื้อชาติกับกลุ่มชาวอาหรับในตะวันออกกลาง ในแอฟริกาตะวันออกก็มีการผสมผสานระหว่างชาวอาหรับกับชนพื้นเมืองเผ่าบันตู (Bantu) ก็ให้เกิดวัฒนธรรมเฉพาะ ที่เรียกว่าแบบ สวาฮิลี นอกจากนี้ ยังมีพวกคอเคเซียนจากยุโรปเข้าเข้าไปตั้งถิ่นฐานจำนวนมากทางภาคใต้โดยเฉพาะในสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ได้แก่ พวกที่มีเชื้อสายดัตช์ และอังกฤษ

ส่วนพวกแอฟริกันผิวดำซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของทวีปแบ่งเป็นกลุ่มย่อยได้หลายกลุ่ม เช่น พวกทุตซี (Tutsi) ในแอฟริกากลางค่อนไปทางตะวันออก จะมีรูปร่างสูง พวกปิกมี (Pygmies) อาศัยอยู่เขตร้อนชื้นแถบศูนย์สูตรเป็นพวกที่มีรูปร่างเล็ก พวกบุชเมน (Bushmen) พวกฮอตเทนทอต (Hottentot) อาศัยอยู่ทางตอนใต้ เป็นต้น นักมานุษยวิทยาคาดว่าพวกแอฟริกันผิวดำมีมากกว่า ,๐๐๐ กลุ่ม

ภาษาที่ใช้พูดในแอฟริกามีมากกว่า ๑,๐๐๐ ภาษา เช่น ทางเหนือพูดภาษาอารบิก ทางตะวันตกพูดภาษาโยรูบา (Yoruba) ทางตะวันออกพูดภาษากิสวาฮิลี (Kiswahili) ใต้เส้นศูนย์สูตรพูดภาษาที่รวมเรียกว่า ภาษาบันตู (Bantu) เป็นต้น ปัญหาของการใช้ภาษาแตกต่างกันทำให้หลายประเทศภายหลังได้รับเอกราชยังคงใช้ภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการ

ส่วนทางด้านศาสนานั้น ชาวแอฟริกันนับถือทั้งคริสต์ศาสนา ศาสนาอิสลาม และความเชื่อดั้งเดิมในท้องถิ่นซึ่งเชื่อในวิญญาณ (Animism) คริสต์ศาสนาเข้ามาเผยแผ่ประมาณคริสต์ศตวรรษต้นๆ ในอียิปต์และเอธิโอเปีย และเข้ามารุ่นหลังโดยมิชชันนารีทั้งคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ส่วนศาสนาอิสลามมีผู้นับถือมากกว่าร้อยละ ๕ ชาวมุสลิมส่วนใหญ่นับถือนิกายซุนนี (Sunni) โดยอยู่ในอียิปต์ ไนจีเรีย แอลจีเรีย ซูตาน และโมร็อกโก

๔.๓ อิทธิพลของทวีปแอฟริกาต่อสังคมโลก

แอฟริกาเป็นภูมิภาคที่ประชากรหลายล้านคนขาดแคลนทั้งอาหารและสุขอนามัยต่างๆ เพราะระดับการพัฒนาล้าหลังที่สุดในโลก ขณะที่อัตราการเกิดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง ๔๐ ปีที่ผ่านมาจนประชากรเพิ่มจาก ๒๒๑ ล้านคนใน ค.ศ. ๑๙๕๐ เป็น ๑,๐๐๐ ล้านคนใน ค.ศ. ๒๐๐๙ นอกจากนี้ ยังเป็นดินแดนที่มีปัญหารุนแรงเรื่องการแพร่ระบาดของโลกเอดส์ (AIDS) และโรคมาลมเรีย รวมถึงปัญหาทางด้านนิเวศวิทยาที่ส่งผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมของโลก เช่น การขยายตัวของพื้นที่ทะเลทราย การที่ป่าถูกทำลายกว่า ๔ ล้านเฮกตาร์ต่อปี และเขตทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์เสื่อมโทรมถึงกว่าร้อยละ ๐ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาความขัดแย้งภายในของหลายประเทศ

อย่างไรก็ดี หลายประเทศสนใจเข้าไปลงทุนในแอฟริกาเพราะยังมีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมหาศาลและแรงงานราคาถูก เช่น ใน ค.ศ. ๒๐๐๗ จึงลงทุนในแอฟริกามูลค่ารวม ๑,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ความไม่เป็นประชาธิปไตยและขาดความโปร่งใสของผู้ปกครองก็อาจทำให้รายได้ของประเทศไม่กระจายทั่วถึงซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของสงครามกลางเมืองในแอฟริกา

๕. ทวีปออสเตรเลียและโอเชียเนีย

ทวีปออสเตรเลียและโอเชียเนีย (Australia and Oceania) เป็นดินแดนที่อยู่ทางซีกโลกใต้สุดจึงมีชื่อเรียกว่า ดินแดนเบื้องต่ำ (Land Down Under) และ ดินแดนแห่งสุดท้ายของโลก (Lost Place in Earth) มีพื้นที่รวมกันทั้งสิ้นประมาณ ๘.๕ ล้านตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย ประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เป็นสำคัญ และประเทศที่เป็นเกาะและกลุ่มเกาะขนาดเล็กอีก ๑ ประเทศ เช่น ปาปัวนิวกินี หมู่เกาะโซโลมอน ฟีจี ตองกา รวมทั้งประเทศที่มีขนาดเล็ก ได้แก่ ตูวาลู และนาอูรู ซึ่งมีเนื้อที่เพียง ๖ ตารางกิโลเมตร และ ๑ ตารางกิโลเมตรตามลำดับ ทวีปออสเตรเลียและโอเชียเนียตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิกและอยู่ทางทิศตะวันออกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างเส้นละติจูดที่ ๑ องศาเหนือ-๖๐ องศาใต้ และเส้นลองจิจูดที่ ๑๐ องศาตะวันตก-๑๑๐ องศาตะวันออก มีขนาดใกล้เคียงกับประเทศสหรัฐอเมริกา จึงเป็นทวีปที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก

ประเทศออสเตรเลียมีพื้นที่มากกว่าร้อยละ ๘๐ ของพื้นที่ทวีป โดยออสเตรเลียเป็นเพียงประเทศเดียวที่ตั้งอยู่บนภาคพื้นที่เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุด และไม่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศใดๆ เป็น ทวีปที่เป็นประเทศและเป็นประเทศที่เป็นทวีป (A continent for a nation, a nation for a continent) มีประชากรประมาณ ๒๒ ล้านคน ส่วนดินแดนอื่นๆ รวมทั้งนิวซีแลนด์มีประชากรอาศัยอยู่น้อยกว่ามาก ดังนั้น ในการอธิบายถึงความสำคัญของทวีปออสเตรเลียและโอเชียเนียทั้งในแง่ของประวัติศาสตร์และพัฒนาการการสร้างสรรค์ในด้านต่างๆ จะขอกล่าวถึงประเทศออสเตรเลียเป็นสำคัญเท่านั้น

๕.๑ ที่ตั้งและสภาพภูมิศาสตร์ที่มีผลต่อพัฒนาการของทวีป

ประเทศออสเตรเลียมีพื้นที่ทั้งสิ้น ๗,๖๙๒,๐๒๔ ตารางกิโลเมตร แต่เป็นแผ่นดินในภาคพื้นทวีป ๗,๖๕๙,๘๖๑ ตารางกิโลเมตร ที่เหลือเป็นเกาะขนาดเล็กโดยมีเกาะแทสเมเนีย (Tasmania) เป็นเกาะขนาดใหญ่ที่สุด ลักษณะภูมิประเทศทั่วไปร้อยละ ๖๕ เป็นที่ราบสูง (plateau) และตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทรายแห้งแล้งและทุรกันดาร มีพื้นที่ที่เป็นน้ำเพียงแค่ร้อยละ ๑ ของพื้นที่ทั้งหมด ชาวออสเตรเลียเรียกดินแดนที่แห้งแล้งและทุรกันดารนี้ว่า เอาต์แบค (Outback)

ประชากรออสเตรเลียส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในบริเวณชายฝั่งด้านตะวันออกหลังแนวเทือกเขาเกรตดิไวดิง (Great Dividing Range) ซึ่งแบ่งแยกชายฝั่งตะวันออกกับเขตเอาต์แบค มีแม่น้ำสายสำคัญๆ อยู่ทางภูมิภาคตะวันออก ได้แก่ แม่น้ำดาร์ลิง (Darling) และแม่น้ำเมอร์ลีย์ (Murray) ส่วนตอนกลางของประเทศ ที่เรียกว่า เขต Central Lowland เป็นเขตแห้งแล้งที่สุด แม่น้ำลำธารต่างๆ อาจแห้งสนิทเป็นเวลาหลายปี มีเขตเพาะปลูกรวมกันเพียงร้อยละ ๗ ของพื้นที่ทั้งประเทศ

๕.๒ พัฒนาการและการสร้างสรรค์ด้านต่างๆ

ออสเตรเลียเป็นดินแดนในจินตทัศน์ของชาวตะวันตกตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ และเป็นที่รู้จักกันว่า เทอร์รา ออสเตรลิส อินคอกนิตา หรือ แผ่นดินตอนใต้ที่ไม่มีใครรู้จัก ออสเตรเลียเป็นทวีปสุดท้ายที่ชาวยุโรปค้นพบ โดยใน ค.ศ. ๑๖๐๖ วิลเลม ยานซ์ (Willem Jansz) ชาวดัตช์และลูกเรือของบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์เป็นคนขาวพวกแรกที่เห็นทวีปออสเตรเลียต่อมาชาวดัตช์ได้เรียกชื่อดินแดนที่ตนค้นพบว่า นิวฮอลแลนด์ แต่ก็ไม่ได้คิดเข้าครอบครองเพราะในสายตาของชาวดัตช์ ทวีปออสเตรเลียเป็นดินแดนของคนป่าเถื่อน (ชาวอะบอริจินิส) ต่อมาเมื่ออังกฤษสูญเสียอเมริกาใน ค.ศ. ๑๗๗๖ ซึ่งเคยเป็นแหล่งระบายนักโทษ จึงคิดที่ยึดออสเตรเลียเป็นแหล่งระบายนักโทษแห่งใหม่

หลังจากรัฐสภามีมติให้จัดตั้งนิคมนักโทษแล้ว รัฐบาลอังกฤษก็จัดส่งนักโทษรุ่นแรกจำนวนกว่า ๗๐๐ คน ซึ่งมีทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กรับโทษในออสเตรเลียและกองเรือหมู่แรกได้เดินทางถึงออสเตรเลียใน ค.ศ. ๑๗๘๘ โดยมีข้าหลวง ซึ่งเป็นนายทหารเรือเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการดูแลนักโทษ

ในระยะแรกอังกฤษไม่ได้ให้ความสนใจออสเตรเลียมากนัก บรรดาทหารที่ส่งมาประจำการและดูแลนักโทษต่างก็แสวงหาประโยชน์ส่วนตัวและมอมเมานักโทษด้วยสุราหรือเหล้ารัม (rum) อีกทั้งยังใช้เหล้ารัมเป็นค่าจ้างแทนเงินตราที่ขาดแคลน ในต้น ค.ศ. ๑๘๐๘ พวกทหารได้ก่อกบฏเหล้ารัม (Rum Rebellion) ต่อข้าหลวงและมีอำนาจปกครองเป็นเวลาเกือบ ๒ ปี

ต่อมารัฐบาลอังกฤษได้ส่งพันตรี แลกลัน แมกควารี (Lachlan Macquarie) นายทหารบกพร้อมทหารชุดใหม่มาปกครองออสเตรเลียแมกควารีเป็นข้าหลวงคนแรกของออสเตรเลียที่ได้วางนโยบายพัฒนาออสเตรเลียให้มีความเจริญแบบตะวันตก โดยการใช้นักโทษซึ่งมีความรู้ในการก่อสร้างเป็นผู้วางผังเมืองซิดนีย์และปลูกสิ่งก่อสร้างต่างๆ มีการจัดทำเงินเหรียญขึ้นใช้แทนเหล้ารัม ตั้งธนาคาร และส่งเสริมการเกษตร อย่างไรก็ดี นโยบายด้านมนุษยธรรมของแมกควารีกลับทำให้เขาถูกรัฐบาลอังกฤษเพ่งเล็ง ใน ค.ศ. ๑๘๑๙ รัฐบาลอังกฤษจึงส่งจอห์น ทอมัส บิกก์ (John Thomas Bigge) มาเป็นผู้ตรวจราชการในออสเตรเลีย รายงานของบิกก์ทำให้รัฐบาลอังกฤษเริ่มคิดจัดตั้งออสเตรเลียให้เป็นดินแดนสำหรับการตั้งถิ่นฐานของชาวเสรีชน โดยก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพัฒนาการในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้

๑) พัฒนาการด้านการเมืองการปกครอง นับแต่ ค.ศ. ๑๘๑ เป็นต้นมา รัฐบาลอังกฤษได้ส่งเสริมให้เสรีชนเดินทางมาตั้งหลักแหล่งในออสเตรเลีย พวกอดีตนักโทษหมดบทบาทในสังคม เกิดการขยายชุมชนและการจัดตั้งรัฐต่างๆ ขึ้นเป็นอิสระจากกันโดยแต่ละรัฐมีข้าหลวงปกครองเอง ขณะเดียวกันอำนาจเด็ดขาดของข้าหลวงก็ถูกจำกัดลง และรัฐบาลอังกฤษก็ออกกฎหมายให้มีการจัดตั้งสภานิติบัญญัติ (Legislative Council) ขึ้นเป็นสภาที่ปรึกษาแก่ข้าหลวงต่อมาเมื่อมีการเรียกร้องรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของประชาชนมากขึ้น รัฐสภาอังกฤษก็ได้ผ่านพระราชบัญญัติ ค.ศ. ๑๘๔๒ กำหนดให้สภานิติบัญญัติในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน ๖ คน โดย ๒๔ คนมาจากการเลือกตั้ง และอีก ๑๒ คนที่เหลือให้ข้าหลวงเป็นผู้แต่งตั้งและให้ครึ่งหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ใน ค.ศ. ๑๘๕๑ ได้มีการค้นพบทองคำในรัฐนิวเซาท์เวลส์และรัฐวิกตอเรีย ทำให้ชาวตะวันตกและชาติต่างๆ พากันอพยพหลั่งไหลเข้ามาเพื่อเสี่ยงโชคและดำเนินธุรกิจ ผู้อพยพส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางที่มีการศึกษาดี รวมทั้ง พวกเรียกร้องกฎบัตร (Chartist) ที่เคยเรียกร้องสิทธิการเลือกตั้งแก่พลเมืองชายทุกคนในอังกฤษ การลงคะแนนโดยวิธีลับ (secret ballot) การให้เงินเดือนแก่ผู้แทนราษฎร และอื่นๆ ออสเตรเลียจึงกลายเป็นเวทีเรียกร้องทางการเมือง จนเกิดการจัดตั้งระบบสภานิติบัญญัติสองสภา (bicameral legislature) และใน ค.ศ. ๑๘๕๖ รัฐวิกตอเรียก็เป็นชนผู้นำในการลงคะแนนโดยวิธีลับในการเลือกตั้งทั่วไป นับว่าออสเตรเลียเป็นชาติแรกที่ใช้วิธีดังกล่าว ทำให้เกิดคำศัพท์ทางการเมืองว่า การลงคะแนนแบบออสเตรเลีย (Australian ballot) ขึ้นซึ่งหมายถึงการลงคะแนนโดยวิธีลับ

ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๕๗ รัฐวิกตอเรียก็ยกเลิกข้อกำหนดการครองทรัพย์สินอันเป็นคุณสมบัติของผู้ลงคะแนนเสียงในสภาล่าง ส่วนรัฐนิวเซาท์ก็ออกกฎหมายการปฏิรูปการเลือกตั้ง ค.ศ. ๑๘๕๘ โดยให้สิทธิเลือกตั้งแก่ผู้ชายทุกคนที่เข้ามาอาศัยในรัฐเวลา ๖ เดือนขึ้นไป การลงคะแนนโดยวิธีลับและการยกเลิกข้อกำหนดการครองทรัพย์สินแก่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งและการแบ่งเขตการเลือกตั้ง โดยวิธีดังกล่าวนี้จึงนับว่าออสเตรเลียมีพัฒนาการทางการเมืองที่ก้าวหน้ากว่าอังกฤษที่เป็นประเทศแม่และประเทศตะวันตกอื่นๆ มาก รัฐเซาท์ออสเตรเลียยังเป็นผู้นำให้สิทธิการลงสมัครเลือกตั้ง และการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแก่สตรีเป็นรัฐแรกใน ค.ศ. ๑๘๙๔ นับเป็นดินแดนแห่งที่ ในจักรวรรดิอังกฤษจากนิวซีแลนด์ (ค.ศ. ๑๘๙) ที่ให้สิทธิทางการเมืองแก่สตรี

ใน ค.ศ. ๑๙๐๑ รัฐต่างๆ ได้รวมตัวกันเป็นประเทศ เรียกว่า เครือรัฐออสเตรเลีย (Commonwealth of Australia) จัดการปกครองในรูปแบบของสหพันธรัฐ (federation) ใช้ระบบสองสภาซึ่งสมาชิกต่างมาจากการเลือกตั้ง สมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้แทนของรัฐ ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นตัวแทนของพลเมืองทั้งประเทศ มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาลและทำหน้าที่กำหนดนโยบายและบริหารประเทศ อย่างไรก็ดี ออสเตรเลียยังคงมีความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นกับอังกฤษโดยมีฐานะเป็นอาณาจักร (dominion) ในจักรวรรดิอังกฤษและเข้าร่วมรบเป็นฝ่ายอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่ ๑ และสงครามโลกครั้งที่ ปัจจุบันออสเตรเลียเป็นประเทศหนึ่งในจำนวน ๕๔ ประเทศที่เป็นสมาชิกของเครือจักรพ (Commonwealth of Nations) ที่มีองค์ประมุขของอังกฤษเป็นผู้นำ โดยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการเป็นผู้แทนพระองค์ปะจำในออสเตรเลีย ส่วนพระองค์ทรงอยู่ในฐานะสมเด็จพระราชินีนาถแห่งออสเตรเลีย

๒) พัฒนาการด้านเศรษฐกิจ สามารถสรุปได้ดังนี้

การปศุสัตว์

โดยทั่วไปดินแดนออสเตรเลียเป็นที่แห้งแล้งทั้งยังขาดพืชเกษตรกรรมอีกด้วย แต่ออสเตรเลียก็มีภูมิอากาศและทุ่งกว้างที่เหมาะแก่การเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะแกะ ในกลางทศวรรษที่ ๑๗๙๐ จอห์น แมกอาเทอร์ (John Macarthur) ได้ริเริ่มนำแกะพันธุ์เมอริโน (merino) ที่ให้ขนแกะหนานุ่มมาทดลองเลี้ยงจนกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจ โดยในปลายทศวรรษ ๑๘๔๐ ได้เพิ่มจำนวนถึง ๑.๕ ล้านตัว ก่อให้เกิดการขยายพื้นที่ในการเลี้ยงแกะ (รวมทั้งวัว) และการตั้งชุมชนใหม่ๆ ที่สำคัญ เช่น พอร์ตฟิลลิป (Port Phillip) ต่อมาคือ รัฐวิกตอเรีย และดินแดนที่ลึกเข้าในทวีป ขนแกะกลายเป็นสินค้าส่งออกไปยังอังกฤษที่สำคัญ และทำให้อุตสาหกรรมการทอผ้าขนสัตว์ของอังกฤษขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

การเกษตร

ในช่วงทศวรรษที่ ๑๘๕๐ เศรษฐกิจของออสเตรเลียมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทองคำกลายเป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้สูงมาพัฒนาประเทศ แต่ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๖๐-๑๘๗๐ เมื่อทองคำเริ่มลดน้อยลงรัฐต่างๆ ได้ดำเนิน นโยบายการเปิดพรมแดนเพื่อขยายพื้นที่การเกษตร (Unlocking the Land) ทั้งยังกระตุ้นให้พวกทำปศุสัตว์ซื้อที่ดินแทนการเช่า อย่างไรก็ดี แม้นโยบายส่งเสริมการเกษตรจะไม่ได้ผลสูงสุดเพราะที่ดินจำพวกหนึ่งถูกพวกทำปศุสัตว์ใช้เล่ห์กลเข้าครอบครอง อีกทั้งเกษตรกรจำนวนมากขาดประสบการณ์ในการเพาะปลูกจนเป็นหนี้ธนาคารและต้องสูญเสียที่ดิน แต่ที่ดินจำนวนหนึ่งก็ได้รับการบุกเบิกเพื่อทำการเกษตร เช่น ในรัฐเซาท์ออสเตรเลียที่เกษตรกรรมเจริญอย่างกว้างขวาง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการจัดตั้งวิทยาลัยการเกษตรและการค้นคว้าปรับปรุงพันธุกรรมของพืชให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศของออสเตรเลีย มีการนำพันธุ์ข้าวสาลีจากอังกฤษและแอฟริกาใต้มาปรับปรุงพันธุ์จนเหมาะกับสภาพภูมิอากาศของออสเตรเลีย คือ ข้าวพันธุ์บ็อบ (Bob) (ค.ศ. ๑๘๙๐) และข้าวพันธุ์เฟดเดอเรชัน (Federation) (ค.ศ. ๑๙๐๑) ทำให้ออสเตรเลียเป็นประเทศที่เจริญก้าวหน้าด้านเกษตรกรรม ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ มีการนำพืชผักผลไม้ต่างๆ มาปรับปรุงพันธุ์และเพาะปลูกโดยใช้เทคโนโลยีทันสมัยต่างๆ จนเป็นประเทศผู้นำส่งออกพืชพันธุ์ผลไท้ต่างๆ

๓) พัฒนาการด้านสังคมและศิลปวัฒนธรรม มีดังนี้

ความเสมอภาคของคนขาว

แม้ออสเตรเลียจะเป็นดินแดนที่อยู่ใกล้ทวีปเอเชีย อีกทั้งชนพื้นเมือง (ชาวอะบอลิจินิส) ก็เดินทางอพยพมาจากเอเชีย แต่ระยะแรกผู้บุกเบิกทั้งเจ้าหน้าที่ ทหาร และนักโทษต่างเป็นชาวตะวันตก และเกือบทั้งหมดมาจากอังกฤษและนับถือคริสต์ศาสนา ทำให้สังคมและวัฒนธรรมออสเตรเลียมีลักษณะเป็นตะวันตก อย่างไรก็ดี สังคมออสเตรเลียจัดเป็นสังคมที่มีความทัดเทียมกันทางชนชั้นทั้งภูมิหลังทางครอบครัวและชาติตระกูล เรียกว่า สังคมแบบสมภาค (Egalitarian Society) เพราะในช่วงของการอพยพนั้นไม่มีชนชั้นขุนนางซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางการเมืองเดินทางมาตั้งหลักแหล่งด้วย พวกอดีตนักโทษรวมทั้งบุตรหลานจึงสามารถสร้างฐานะและมีบทบาทสำคัญในการร่วมก่อตั้งอาณานิคม

ต่อมาในทศวรรษ ๑๘๕๐ ซึ่งเป็นช่วงที่มีการค้นพบทองคำนั้น ผู้อพยพส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นพวกชนชั้นกลาง ทำให้ขบวนการเรียกร้องและปฏิรูปกฎหมายการเลือกตั้งเข้มแข็งขึ้น อันนำไปสู่การขยายสิทธิการเลือกตั้งให้แก่ผู้ชายทุกคน โดยปราศจากการคัดค้านของชนชั้นขุนนางและเกิดขึ้นก่อนประเทศอังกฤษเป็นเวลาหลายปี ขณะเดียวกันการเข้ามาแสวงโชคของชาวจีนที่มีวัฒนธรรมความเป็นอยู่ เชื้อชาติ และลัทธิศาสนาที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงจากชาวตะวันตก เช่น การไว้หางเปีย การรับประทานอาหารด้วยตะเกียบ การอยู่เป็นกลุ่ม การสูบฝิ่น การเซ่นไหว้บรรพบุรุษ เป็นต้น ก็ทำให้ชาวอาณานิคมออสเตรเลียเริ่มมีอคติต่อคนผิวเหลืองจนก่อให้เกิดความรังเกียจและต่อต้าน อันนำไปสู่การออกกฎหมายของรัฐต่างๆ เพื่อป้องกันการอพยพเข้ามาอยู่อาศัยของคนผิวเหลืองรวมทั้งคนผิวดำ

ต่อมาหลังจากออสเตรเลียจัดตั้งเป็นเครือรัฐออสเตรเลียแล้ว รัฐบาลกลางได้ออกพระราชบัญญัติหลายฉบับเพื่อกีดกันการอพยพของคนผิวเหลืองรวมทั้งคนผิวดำ กลายเป็นนโยบายของประเทศ เรียกว่า นโยบายออสเตรเลียสีผิวขาว (White Australia Policy) ซึ่งรัฐบาลออสเตรเลียได้ดำเนินนโยบายดังกล่าวติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายสิบปีและเพิ่งยกเลิกไปในช่วงทศวรรษ ๑๙๖๐

การสร้างสังคมนานาชาติและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างออสเตรเลียกับอังกฤษทั้งด้านสังคมและวัฒนธรรมที่มีมาเริ่มเปลี่ยนแปลง การอพยพข้าวของชาวยุโรปตะวันออกและยุโรปใต้ที่เริ่มต้นใน ค.ศ. ๑๙๔๖ ทำให้ออสเตรเลียมีลักษณะเป็นสังคมนานาชาติที่มีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม อีกทั้งวัฒนธรรมการกินอยู่และแนวคิดแบบอเมริกันที่ทหารอเมริกันนำมาเผยแผ่ในช่วงสงครามโลก ทำให้ชาวออสเตรเลียเริ่มเปิดตัวต่อสังคมโลกมากขึ้น การศึกษาในระดับอุดมศึกษาก็ขยายตัวอย่างมาก และมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในรัฐต่างๆ เพิ่มขึ้นกว่า เท่าตัว อีกทั้งยังมีการจัดสรรทุนของรัฐบาลให้แก่นักศึกษาชาวเอเชียเข้าศึกษาในโครงการของรัฐ

นอกจากนี้ ในทศวรรษ ๑๙๖๐ รัฐบาลยังให้ความสนใจในวัฒนธรรมและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอะบอริจินิส มีการให้สิทธิพลเมืองอย่างสมบูรณ์แก่ชาวอะบอริจินิสใน ค.ศ. ๑๙๖๗ อีกทั้งต่อมายังส่งมอบ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ของเผ่าต่างๆ คืนให้แก่ชาวอะบอริจินิส เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมของเผ่าและสืบทอดวัฒนธรรมความเชื่อ ศิลปะวัฒนธรรมอะบอริจินิสก็ได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินจากรัฐบาลมีการแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาทางศิลปะขึ้น ทั้งศิลปินชาวออสเตรเลีย ก็ได้รับการกระตุ้นให้หันมาสนใจในรูปแบบของศิลปะอะบอริจินิส มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาประสมประสานเพื่อเร้าความสนใจและจินตนาการของผู้ชมมากขึ้นจนกลายเป็นรูปแบบที่เป็นอัตลักษณ์ของศิลปะออสเตรเลียในปัจจุบัน

ใน ค.ศ. ๒๐๐๘ นายเควิน รัดด์ (Kevin Rudd) นายกรับมนตรีออสเตรเลียขณะนั้นได้กล่าวขอโทษชาวอะบอริจิ นิสอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกที่คนขาวได้สร้างความทุกข์ทรมานใจแก่ชาวอะบอริจินิสตลอดเวลา ๒๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา นับเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสมานฉันท์อย่างเป็นรูปธรรมระหว่างชาวออสเตรเลียผิวขาวกับคนพื้นเมืองอย่างแท้จริง

๕. อิทธิพลของทวีปออสเตรเลียและโอเซียเนียต่อสังคมโลก

วัฒนธรรมออสแตรเลียมีลักษณะเป็นวัฒนธรรมตะวันตก ขณะเดียวกันก็คงเอกลักษณ์เฉพาะของชนพื้นเมืองอยู่ นับตั้งแค่ทศวรรษ ๑๙๖๐ เป็นต้นมา รัฐบาลออสเตรเลียได้ให้ความสนใจและยอมรับความสำคัญของชาวอะบอริจินิสในฐานะชนพื้นเมืองของออสเตรเลีย ก่อให้เกิดการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการของคนพื้นเมืองขึ้น ศิลปวัฒนธรรมของชาวอะบอริจินิสได้รับการสนับสนุนทางด้านการเงินจากรัฐบาล รวมทั้งมีการรวบรวมและเผยแพร่งานศิลปะอะบอริจินิสอย่างกวางขวางไปทั่วโลกซึ่งเป็นที่นิยมชื่นชอบทั้งภายในและภายนอกประเทศ จนมีการจัดแสดงศิลปะอะบอริจินิสทั้งที่เป็นภาพเขียนและศิลปวัตถุในพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ที่มีชื่อเสียงในประเทศต่างๆ

นอกจากนี้ ออสเตรเลียยังเป็นประเทศผู้นำอีกประเทศหนึ่งในด้านวิทยุ โทรทัศน์ อุตสาหกรรมบันทึกเสียง รวมทั้งอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๙๖ และเริ่มเป็นที่รู้จักกันดีในปลายทศวรรษ ๑๙๖๐ ใน ค.ศ. ๑๙๗๓ มีการจัดตั้งโรงเรียนภาพยนตร์โทรทัศน์และวิทยุแห่งออสเตรเลียขึ้น ปัจจุบันนับว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของออสเตรเลียประสบความสำเร็จอย่างมากและนักแสดงชาวออสเตรเลียก็เป็นที่รู้จักกันอย่างดี

แม้ในระยะแรกของการตั้งถิ่นฐาน ชาวยุโรปจำเป็นต้องนำเข้าอาหารแทบทุกชนิด แต่ปัจจุบันออสเตรเลียได้พัฒนาตนเองจนกลายเป็นหนึ่งในประเทศผลผลิตทางการเกษตรกรรมรายใหญ่ของโลกในคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ มีการนำพืชผักกลไม้ต่างๆ มาปรับปรุงพันธุ์ให้เหมาะกับสภาพภูมิอากาศและภูมิประเทศ และเพาะปลูกโดยใช้เทคโนโลยีทันสมัยต่างๆ จนสามารถปลูกพืชผลไม้ต่างๆ ทั้งพืชผลไม้เขตเมืองหนาวและเขตเมืองร้อน เช่น แอปเปิล องุ่น มะนาว กล้วย ลูกแพร์ พีช และสับปะรด เป็นต้น รวมทั้งข้าวสาลีซึ่งส่งออกเป็นลำดับต้นๆ ของโลก และยังมีการเลี้ยงแกะขนาดใหญ่และส่งออกขนแกะ เนื้อสัตว์ และอาการประเภทนม เนยด้วย

ในสงครามโลกครั้งที่ ๑ และสงครามโลกครั้งที่ ๒ ออสเตรเลียรอดพ้นจากการเป็นสนามรบแต่การขาดแคลนสินค้าอุตสาหกรรมนำเข้าต่างๆ รวมทั้งความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมในตลาดต่างประเทศ ทำให้รัฐบาลหันมาส่งเสริมอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนักมีการจัดตั้งโรงถลุงเหล็กและการทำอุตสาหกรรมแร่ต่างๆ ปัจจุบันออสเตรเลียเป็นประเทศผู้นำที่สำคัญที่สุดในการส่งออกแร่ถ่านหิน บ็อกไซต์ (bauxite) รวมทั้งโอพอล (opal)

มรดกชิ้นสำคัญของออสเตรเลียที่ทิ้งไว้ให้แก่ชาวโลก คือ วิธีการลงคะแนนเสียงโดยวิธีลับในการเลือกตั้ง ออสเตรเลียเป็นประเทศแรกในโลกที่ใช้วิธีการนี้ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๕๖ ซึ่งแต่แรกนั้นเรียกว่า การลงคะแนนเสียงแบบออสเตรเลีย (Australian ballot) ต่อมาให้สิทธิการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแก่ผู้ชายทุกคน ส่วนผู้หญิงในออสเตรเลียในอาณานิคมเซาท์ออสเตรเลียได้รับสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งใน ค.ศ. ๑๘๙๔ นับว่าเป็นดินแดนแห่งที่ ๒ ในโลกต่อจากนิวซีแลนด์ที่สตรีได้รับสิทธิเลือกตั้ง และก่อนประเทศอังกฤษซึ่งสตรีไม่ได้รับสิทธิเลือกตั้งจนถึง ค.ศ. ๑๘๒๐

กล่าวสรุปได้ว่า

แม้ว่าสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ไม่ใช่ปัจจัยประการเดียวในการกำหนดเส้นทางของพัฒนาการของภูมิภาคต่างๆ แต่จากการศึกษาความเป็นไปในอดีตของทวีปต่างๆ จะเห็นได้ว่า ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ การอยู่ในเขตอาศัยที่เหมาะสม และการมีที่ตั้งที่สะดวกต่อการคมนาคม เป็นองค์ประกอบที่สนับสนุนการเจริญเติบโตและความสำเร็จในการพัฒนาของภูมิภาคต่างๆ

การศึกษาพัฒนาการด้านต่างๆ ของกลายภูมิภาคของโลก จะทำให้นักเรียนตระหนักได้ว่าการที่ภูมิภาคต่างๆ ของโลกเป็นเช่นที่เห็นในปัจจุบันนั้น มีสาเหตุของพัฒนาการที่สามารถอธิบายได้ทั้งสิ้น การเรียนรู้ความแตกต่าง ความสำเร็จ ความล้มเหลว ความได้เปรียบและความเสียเปรียบของแต่ละดินแดน จะช่วยให้เกิดความเข้าใจว่าทำไมระดับการสร้างสรรค์จึงห่างไกลหรือใกล้เคียง การมองเห็นภาพรวมของพัฒนาการในภูมิภาคต่างๆ ของโลกจะทำให้นักเรียนเข้าใจเหตุการณ์ปัจจุบันและนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตได้